วันศุกร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

การเข้าถึงความงามในงานสถาปัตยกรรม

สถาปัตยกรรมคือผลงานศิลปะที่เน้นความงามทางด้านรูปร่างรูปทรง พื้นที่ว่างและประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก อีกทั้งเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาพภูมิศาสตร์ของแต่ละแห่งได้เป็นอย่างดี ในที่นี้ผู้เขียนจะยกตัวอย่างของการเข้าถึงความงามในงานสถาปัตยกรรมของไทยได้แก่ เรือนไทยทับขวัญ จังหวัดนครปฐม เป็นเรือนหมู่ที่ประกอบด้วยเรือนหลายหลังเชื่อมต่อกันด้วยลานตรงกลางที่มีการเล่นพื้นต่างระดับเพื่อแยกพื้นที่ใช้สอยในแต่ละส่วนโดยทั่วไปเรือนไทยจะมีการยกพื้นสูงเพื่อให้ใต้ถุนเรือนโปร่งสำหรับใช้สอยประกอบกิจกรรรมอื่น ๆ วัสดุที่ใช้ปรุงเรือนทำจากไม้และกระเบื้องดินเผา เดิมทีช่างคงใช้การทำเบ้าและเดือยเพื่อให้ชิ้นส่วนต่างๆ ประกอบยึดแน่นเข้าด้วยกัน โดยทั่วไปความงามของเรือนไทยอยู่ที่สัดส่วน รูปทรง พื้นที่ว่างและการแบ่งพื้นที่ใช้สอยได้อย่างเหมาะสมลงตัว สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ ส่งผลให้ผู้ดูรู้สึกได้ถึงความสง่างาม สงบร่มรื่น ความอ่อนน้อม เมื่อพิจารณาความอ่อนช้อยที่ปรากฏในความรู้สึกเกิดจากเส้นสายอ่อนโค้งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นต้นเสาสอบเรียวเนียนกลมกลึง ส่วนโค้งของป้านลมหลังคาที่พุ่งสูงขึ้นสู่ฟ้า เส้นโค้งที่ตวัดขึ้นของตัวเหงาและความละเอียดของฝีมือการเข้าไม้ชิ้นเล็กชิ้นน้อยเป็นฝาปะกน รวมทั้งลวดลายการแกะสลักของหย่องหน้าต่าง
นอกจากนี้ยังมีความโดดเด่นของสัดส่วนอีกหลายประการ เช่น สัดส่วนที่พอเหมาะพอดีของช่องหน้าต่างกับตัวเรือน ชานเรือนที่เปิดโล่งสู่ท้องฟ้า หลังคาที่มีมิติเหลื่อมซ้อนกันอย่างมีจังหวะ สัดส่วนของปีกนกที่แผ่ออกจากตัวเรือน ฯลฯ องค์ประกอบเหล่านี้ล้วนทำให้บ้านทรงไทยมีความสง่างามและความประณีตบรรจง แต่ทว่าสิ่งเหล่านี้กลับดูสงบนิ่งกลมกลืนไปกับบรรยากาศของแมกไม้
เมื่อพิจารณาถึงความงามในแง่คุณค่าทางสังคมและวัฒนธรรมพบว่าเรือนไทยหลังนี้สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดและวิถีการดำรงชีวิตของบรรพบุรุษของเราได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ ในอดีตสังคมชาวไทเป็นสังคมที่ดำรงชีวิตด้วยการทำนา อาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำ เป็นสังคมที่ลงหลักปักฐานอยู่บนที่ดินที่ค่อนข้างถาวร ในสังคมเช่นนี้ผู้คนต่างมีเวลาว่างจากการทำนามาค่อย ๆ พัฒนาที่อยู่อาศัย จากการสังเกตทิศทางลม แนวโคจรของพระอาทิตย์ ฤดูกาลน้ำขึ้นน้ำลง วัสดุในธรรมชาติ ฯลฯ นำมาประยุกต์ปรับเปลี่ยนและพัฒนาที่อยู่อาศัยจนเกิดความประณีตสวยงามในรายละเอียดและเหมาะสมสอดคล้องสภาพแวดล้อมธรรมชาติ ดังนั้นจึงมีคุณค่าอย่างสูงในแง่ของวัฒนธรรมโดยเฉพาะเป็นสิ่งที่แสดงถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนไทยในอดีต
ต่อไปจะยกตัวอย่างการเข้าถึงความงามในงานสถาปัตยกรรมตะวันตก เช่น โบสถ์เซนต์ปีเตอร์ กรุงวาติกัน ประเทศอิตาลีโบสถ์เซนต์ปีเตอร์เป็นโบสถ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกถึงนักบุญปีเตอร์ผู้นำศาสนาคริสต์เข้าไปเผยแพร่ในประเทศอิตาลี รูปแบบของสถาปัตยกรรมที่เห็นอยู่ในปัจจุบันได้รับการออกแบบจากสถาปนิกหลายท่านซึ่งล้วนเป็นศิลปินเอกของโลก ฐานรากของโบสถ์เซนต์ปีเตอร์ถูกสร้างขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ.1506 และได้รับการก่อสร้างต่อเติมเรื่อยมา ในช่วงเวลาหนึ่งไมเคิล แองเจลโลได้มีส่วนในการออกแบบโดมขนาดใหญ่เพื่อให้จุคนได้จำนวนมาก โดมดังกล่าวมีความสูงราว 452 ฟุตซึ่งท้าทายวงการสถาปัตยกรรมในช่วงเวลานั้นอย่างมากในการแก้ปัญหาเรื่องการรับน้ำหนัก ไมเคิล แองเจลโลเสียชีวิตลงก่อนที่การสร้างโบสถ์จะเสร็จเรียบร้อย
ในปี ค.ศ. 1656 เบอร์นินี่ (Gianlorenzo Bernini) ศิลปินและสถาปนิกคนสำคัญในสมัยบาโรคได้ออกแบบต่อเติมลายเฉลียงด้านหน้าและบันไดทางขึ้น รวมทั้งต่อเติมระเบียงทางเดินที่ประกอบด้วยเสาหินโปร่งโล่ง เบื้องบนเป็นหลังคาคลุม บนหลังคาประดับด้วยประติมากรรมรูปนักบุญต่าง ๆ อย่างงดงาม เมื่อมองจากแผนผังจะพบว่าคล้ายกับแขนและมือที่ยื่นออกมาจากโบสถ์เซนต์ปีเตอร์เข้าโอบกอดลานกว้างหน้าโบสถ์ เข้าใจว่าเบอร์นินี่เจตนาออกแบบให้เป็นสัญลักษณ์พระหัตถ์ของแม่พระผู้บริสุทธิ์โอบอุ้มคริสต์ศาสนิกชนทั้งหลายผู้เดินทางมาแสวงบุญยังมหาวิหารแห่งนี้
เมื่อพิจารณาในแง่ของความงามพบว่ามีการวางแผนผังที่พุ่งเข้าสู่ศูนย์กลางโดยใช้แนวทางเดินเชื่อมต่อด้วยระเบียงที่โอบล้อมอยู่ด้านหน้าเป็นเส้นนำสายตาให้พุ่งเข้าหาตัวโบสถ์ ลานกว้างที่อยู่ด้านหน้าทำหน้าที่เป็นพื้นที่ว่างขับให้รูปทรงของตัวอาคารขนาดมหึมามีปริมาตรที่ชัดเจน หนักแน่นมั่นคงและน่าเกรงขาม รายละเอียดของเหล่าประติมากรรมที่ประดับบนหลังคาของระเบียงทางเดินที่เป็นตัวแทนของเหล่าสาวกต่าง ๆ เมื่อมองจากด้านล่างแลดูสง่างามและตัดกับฉากหลังที่เป็นท้องฟ้า
ภายในอาคารมีการแตกแต่งด้วยงานปูนปั้นระบายสี งานประดับหินสี (Mosaic) และงานประติมากรรมอย่างวิจิตรอลังการ บริเวณกลางอาคารมีโดมขนาดมหึมา ภายใต้โดมมีการสร้างบรรยากาศความศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาด้วยเจาะช่องหน้าต่างเพื่อเปิดรับแสงบริเวณฐานโดมโดยรอบ เพื่อทำให้ผู้คนที่อยู่ภายในเมื่อมองขึ้นไปบนหลังคาโดมเกิดความรู้สึกเหมือนล่องลอยอยู่บนสรวงสวรรค์อันศักดิ์สิทธิ์ของพระเป็นเจ้า โดยทั่วไปตามความเชื่อของศาสนาคริสต์โบสถ์คือการจำลองอาณาจักรของพระเป็นเจ้า เป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่วิจิตรและอลังการที่ทำให้มนุษย์รู้สึกว่าตนเองเป็นเพียงสิ่งเล็กน้อยเมื่อเทียบกับอาณาจักรของพระองค์ ดังนั้นความงามในงานสถาปัตยกรรมของโบสถ์เซนต์ปีเตอร์ที่สถาปนิกได้ทำสำเร็จอย่างหนึ่งคือการถ่ายทอดความวิจิตรอลังการของอาณาจักรของพระเป็นเจ้าได้อย่างสมบูรณ์แบบ
เมื่อพิจารณาความงามในแง่คุณค่าทางสังคมและวัฒนธรรมพบว่า การก่อสร้างสถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่เช่นมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ได้นั้น จำเป็นต้องใช้ทั้งเวลา แรงงาน เงินทองและอำนาจบารมีมหาศาลจึงจะลุล่วงไปได้ ทำให้เห็นถึงความมั่นคงของสถาบันศาสนาและอำนาจบารมีของพระศาสนาจักรโรมันคาทอลิกที่แผ่กว้างไปทั่วยุโรป นอกจากนี้ยังสะท้อนเห็นถึงสภาพสังคมยุโรปในขณะนั้นว่าเป็นยุครุ่งเรืองแห่งศิลปะวิทยาการ เป็นยุคแห่งการท้าทายภูมิปัญญาของมนุษย์ในการเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ อีกทั้งเป็นสัญลักษณ์ทางศาสนา แสดงถึงความมีเอกภาพ ความสงบ ความหวังและความมั่นคงเหนือเหตุการณ์ทางการเมืองที่แปรปรวนในสังคมยุโรปในช่วงเวลานั้น และเป็นศูนย์กลางในการรวมวิญญาณของชาวคริสเตียนทั้งหมดตราบจนถึงทุกวันนี้
เห็นไหมว่าการดูงานศิลปะ แท้จริงแล้วนอกจากเราจะดูว่างามหรือไม่งาม สวยหรือไม่สวยแล้ว ยังมีคุณค่าอีกหลายที่เราควรพิจารณา เช่น คุณค่าด้านองค์ประกอบศิลป์ วัสดุหรือเทคนิคการสร้าง แนวคิดของตัวศิลปินเอง หรือสภาพของสังคมที่สะท้อนออกมาในงานศิลปะนั้น ๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น