วันศุกร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

สุนทรียภาพกับการสร้างสรรค์ศิลปกรรม

สุนทรียภาพกับการสร้างสรรค์ศิลปกรรม
คนเราดำเนินชีวิตอยู่ในธรรมชาติสิ่งแวดล้อม มีชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคม มีโลกส่วนตัวที่เป็นตัวของตัวเอง มีอิสระเสรีภาพที่จะคิดที่จะทำ เพื่อความสุขและความพึงพอใจของเรา แต่ทั้งนี้ต้องไม่ส่งผลกระทบในทางลบต่อผู้อื่น ต่อสังคม ต่อธรรมชาติสิ่งแวดล้อม

สังคมแต่ละสังคมย่อมมีวัฒนธรรมที่ดีงามของตนเอง วัฒนธรรมที่เป็นวิถีการดำเนินชีวิต เป็นความดีงามต่อตนเองและต่อส่วนรวม วัฒนธรรมที่พัฒนาและสืบทอดกันมา ผ่านระบบครอบครัว ระบบสังคม ระบบการศึกษา
“ธรรมะ” ที่เป็นธรรมชาติ ธรรมดา ความดีงาม
“วัฒนะ” ที่คงอยู่ได้และพัฒนาให้เหมาะสม สอดคล้องกับสังคมและวิถีชีวิตทุกช่วงเวลา
เรามีศาสนาที่ล้วนมีคำสั่งสอนที่สอนให้เรามีคุณค่า มีจิตใจที่ดีงาม “แก่นธรรม” ของศาสนามักผสมผสานอยู่กับพิธีกรรมต่างๆ เราต้องรู้จักกลั่นกรอง รู้จักเลือกสรร เพื่อนำมาสู่การดำรงชีวิต
มี “ศรัทธา” ต่อศาสนา โดยมี “ปัญญา” ค้ำจุนศรัทธา มิใช่เป็นเพียงศรัทธาที่มีอวิชชาเข้าครอบงำ เรามีสังคมที่มีกติกา มีกฎหมาย มีระเบียบแบบแผนในการอยู่ร่วมกัน อารยสังคม คือสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข มีแบบแผนที่งดงาม มีระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ ให้คุณค่าต่อ การดำรงชีวิตและให้คุณแก่สังคม มีรสนิยมที่ดี มีศิลปวัฒนธรรมที่เจริญรุ่งเรือง เป็นภาพสะท้อนหรือพลังของความรู้สึกนึกคิด พลังของการอยู่ร่วมกันและพลังของการสร้างสรรค์สังคม

นอกจากคุณค่าของวัฒนธรรม ศาสนา และสังคมดังกล่าวแล้ว เหนือสิ่งอื่นใด ระบบครอบครัวย่อมเป็นหัวใจของวัฒนธรรม ศาสนา และสังคม ทุกสิ่งย่อมเริ่มต้นพัฒนาจากระบบครอบครัว การสืบทอดแบบแผนและวัฒนธรรม สำนึกในการเป็นคนและสำนึกในการอยู่ร่วมกันอย่างอารยชน ล้วนเริ่มต้นงอกงามขึ้นที่บ้าน

เสฐียรโกเศศ (พระยาอนุมานราชธน) กล่าวถึงความเป็นคนไทยว่า ความเป็นอันเดียวของชาวไทยและอะไรๆ ที่เป็นคุณสมบัติและเป็นบุคลิกลักษณะของชาวไทย จึงไม่ใช่สำคัญอยู่ที่เรื่องต้นเดิมของไทยอย่างเดียว ข้อที่สำคัญมากกว่าคือ อยู่ที่เรื่องวัฒนธรรม ที่ปั้นไทยให้ปรากฏเด่นว่าเป็นไทยโดยสมบูรณ์ และทำให้เห็นว่า แตกต่างไปจากชนชาวอื่นมีอย่างไร เราก็อาจตอบได้ในข้อนี้ว่า วัฒนธรรมไทยเกิดจากขนบธรรมเนียมประเพณีที่สืบๆ ต่อกันมาเป็นปรัมปรา อย่างที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Tradition หรือประเพณีปรัมปรา ซึ่งมีมาหลายกระแสหลายทาง ที่เข้ามาผสมปนปรุงกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว เกิดเป็นวิถีชีวิตแห่งความเป็นอยู่ของชนชาวไทยให้เห็นเด่นโดยเฉพาะ (เสฐียรโกเศศ. ๒๕๓๑ : ๑๑๕)

คนเรามีความรู้สึกนึกคิด มีจิตใจที่ชื่นชมยินดี มีความรู้สึกหวั่นไหวต่อสิ่งกระทบทั้งหลาย มีรสนิยม มีความชื่นชมในความงาม ความไพเราะ ความสันติสุข เรามีประสาทสัมผัส (Sensibility) ที่จะรับรู้ความรู้สึกต่างๆ เรามีรสนิยม (Taste) ในการคิดและการเลือกสรรเพื่อสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิต มีสุนทรียภาพ (Aesthetic) ที่ตอบรับหรือชื่นชมยินดีกับความงามทั้งหลาย เพื่อการดำรงชีวิตที่มีคุณภาพและชีวิตที่ประณีตงดงาม

มื่อเรามีสุนทรียภาพหรือมีปฏิกิริยาต่อความงามทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติสิ่งแวดล้อม วัตถุ เหตุการณ์ การดำรงชีวิต สภาพแวดล้อมและปรากฏการณ์เหล่านั้นมีสภาพเป็นแรงบันดาลใจ (Inspiration) ที่จะกระตุ้นความรู้สึก กระตุ้นการรับรู้ เราจะแปรการรับรู้ไปสู่ความรู้สึกนึกคิด การชื่นชมยินดี การวิพากษ์ วิจารณ์ พร้อมกันนั้นก็จะพัฒนาความรู้สึกนึกคิดไปสู่การแสดงออก ไปสู่การสร้างสรรค์ เราอาจแสดงออกและสร้างสรรค์ได้ทุกด้านในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกและสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์ สร้างสรรค์ทางเทคโนโลยี สร้างสรรค์ทางสังคม ฯลฯ โดยมีพลังของสุนทรียภาพเป็นแรงสนับสนุน

อีกด้านหนึ่ง พลังสุนทรียภาพในตัวตนของเรา ได้ผลักดันให้เกิดการสร้างสรรค์ศิลปกรรมขึ้น ผู้ที่ชื่นชมการใช้สื่อตัวอักษรบรรยายจินตนาการก็จะสร้างสรรค์วรรณกรรม ผู้ชื่นชมการใช้สื่อเสียงก็จะสร้างสรรค์ดนตรี ผู้ชื่นชมการใช้สื่อร่างกายก็จะสร้างสรรค์ศิลปะการแสดง และผู้ชื่นชมการใช้สื่อวัตถุก็จะสร้างสรรค์ทัศนศิลป์และสถาปัตยกรรม ตามลักษณะเฉพาะของตน (Individuality)

ศึกษาค้นคว้าทางด้านศิลปกรรมศาสตร์ นอกจากการพัฒนาทางด้านสุนทรียศาสตร์เชิงปรัชญา ที่เป็นเรื่องจินตนาการ ความงาม การแสดงออก ความรู้สึกนึกคิด และการพัฒนาทางด้านสุนทรียศาสตร์เชิงวิทยาศาสตร์ ที่เป็นหลักการ เหตุผล การวางแผน การจัดระบบ เพื่อเป็นฐานหรือเป็นแรงผลักดันการสร้างสรรค์แล้ว อีกด้านหนึ่ง จำเป็นจะต้องพัฒนาสุนทรียภาพของผู้ศึกษาอีกด้วย เป็นการศึกษาที่เรียกว่า สุนทรียศึกษา (Aesthetic Education)

สังคมไทยได้รับกระแสอิทธิพลความคิดที่หลากหลาย ความหลากหลายนั้นก่อให้เกิดพลวัตขึ้นในสังคม ก่อให้เกิดการปรับตัวยืดหยุ่นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็รวมทั้งปรัชญาความคิดจากจีน ญี่ปุ่น อินเดีย ตะวันตก ปรัชญาความคิดต่างๆ ได้ช่วยปรับและขัดเกลาวัฒนธรรมไทย จนก่อให้เกิดลักษณะเฉพาะตัวทางวัฒนธรรม ลักษณะเฉพาะตัวทางการดำรงชีวิต รวมทั้งสุนทรียภาพในชีวิตด้วย ลองศึกษาความคิดของเสาหลักความคิดท่านหนึ่งจากอินเดียคือ รพินทรนาถ ฐากูร ซึ่งก็มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตและสุนทรียภาพในชีวิตของคนไทยไม่น้อย ท่านได้กล่าวถึงความงามที่สัมพันธ์กับสุนทรียภาพในชีวิต สุนทรียภาพส่วนตน ไว้ในบทนิพนธ์เรื่อง สาธนา ข้อความตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า

เราเข้าใจแจ้งในกฎของสัจธรรม โดยความเข้าใจต่อธรรมะและเราก็รู้แจ้งในกฎของความเหมาะสมกลมกลืน ด้วยความรู้สึกต่อความงาม การรู้จักกฎของธรรมชาติ ให้อำนาจและแรงงานทางวัตถุแก่เรา การรู้จักกฎของจริยธรรม ให้การชนะตนเองและอิสรภาพ เมื่อรู้กฎแห่งความกลมกลืน เราก็มีส่วนร่วมในความเบิกบานชื่นชมของโลกธาตุ ในศิลปะความงามก็แสดงออกอย่างทั่วไป ไม่มีขอบเขต เราจะเข้าใจชัดเจนและกว้างขวางในความสงบศานติสุขของวิญญาณ ก็ขณะเมื่อเรารู้ถึงความกลมกลืน อันมีภายในวิญญาณของเรา ความงามก็แสดงออกในชีวิตเราโดยทางคุณธรรมและความรัก มีจุดหมายคืออนันตภาพ นี่แหละคือจุดหมายสูงสุดของความเป็นอยู่ของเรา เราจะต้องรู้ชัดแจ้งว่า “ความงามคือสัจธรรมและสัจธรรมคือความงาม” เราจะต้องเข้าใจโลกแจ่มแจ้งด้วยความรัก เพราะว่าความรักให้กำเนิด ดำรงไว้และโอบมันเข้าสู่อ้อมอุระ เราจะต้องมีดวงใจเป็นอิสระอย่างแท้จริง อันจะทำให้เราสามารถเข้าหยั่งถึงกลางดวงใจของสรรพสิ่งและลิ้มรสความชื่นชมสูงสุด (ระวี ภาวิไล. ๒๕๑๗ : ๑๕๓ - ๑๕๔)

จุนิจิโร ทานิซากิ พรรณนาถึงความงามและรสนิยมของญี่ปุ่น รวมทั้งชาวตะวันออก เปรียบเทียบกับความงามของชาวตะวันตก ข้อความตอนหนึ่งใน เยิรเงาสลัว (In Praise of Shadows) กล่าวว่า
ในขณะที่โลกตะวันตก แม้กระทั่งผีก็ใสราวแก้ว เครื่องใช้ในบ้านก็ทำนองเดียวกัน เราชอบสีที่มีส่วนผสมของความมืด แต่ชาวตะวันตกชอบสีของแสงสว่าง ในกรณีเครื่องใช้ที่ทำด้วยเงินและทองแดง เรานิยมชมชื่นกับรอยเลื่อมและคราบคล้ำๆ ซึ่งชาวตะวันตกเห็นว่าสกปรก ไม่ถูกสุขลักษณะ และขัดเครื่องใช้ให้ขึ้นเงาเจิดจ้า ชาวตะวันตกนิยมทาเพดานและผนังด้วยสีอ่อนๆ เพื่อทำลายเงาสลัวให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ในขณะที่เราปลูกสวนให้เต็มไปด้วยไม้หนาทึบ ชาวตะวันตกกลับปลูกสนามหญ้าให้ลาดกว้างออกไป อะไรเป็นปัจจัยก่อให้เกิดความแตกต่างถึงเพียงนี้ ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า เราชาวตะวันออกมักจะแสวงหาความพอใจจากสิ่งแวดล้อมที่เราอยู่
ดังนั้น ความมืดจึงไม่ได้สร้างความขัดเคืองแก่เรา เรายอมรับว่าความมืดเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าแสงมีอยู่น้อย เราก็ยอมรับว่ามีอยู่น้อย เราปล่อยตัวเราให้ซึมซาบในความมืด และ ณ ที่นั้น เราก็พบความงามตามแบบอย่างของมัน แต่ชาวตะวันตกผู้มีความคิดก้าวหน้า มีแต่จะพยายามทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น จากเทียนไปสู่ตะเกียงน้ำมัน จากตะเกียงน้ำมันสู่ตะเกียงก๊าซ จากตะเกียงก๊าซสู่ไฟฟ้า การแสวงหาแสงสว่างของชาวตะวันตกมีไม่รู้จบสิ้น และยอมเผชิญหน้ากับอุปสรรคทุกอย่าง เพื่อกำจัดเงาสลัวแม้แต่เพียงเล็กน้อยให้หมดสิ้นไป (สุวรรณา วงศ์ไวศยวรรณ. ๒๕๐๗ : ๑๐๙ - ๑๑๐)

นักสุนทรียศาสตร์บางแนวคิดเชื่อว่า ความงามเป็น วัตถุวิสัยนิยม (Objectivism) นั่นหมายถึงว่า ความงามเป็นคุณสมบัติของวัตถุ ความงามอยู่ที่ตัววัตถุ อยู่ที่สรรพสิ่ง แม้เราไม่สนใจ ไม่ชื่นชม ความงามของสิ่งนั้นก็ยังมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความงามของธรรมชาติ ขุนเขา ท้องทะเล ทุ่งหญ้า ผลงานจิตรกรรม นาฏศิลป์ ดนตรี ฯลฯ นักสุนทรียศาสตร์บางกลุ่มไม่เห็นด้วยกับแนวคิดข้างต้น เพราะเชื่อว่า ความงามเป็น จิตวิสัยนิยม (Subjectivism) ถือว่าตัวบุคคลเป็นแหล่งคุณค่าของความงาม ความงามเกิดจากความรู้สึกนึกคิดของเราเอง ความงามคือประสบการณ์สุนทรียะ ถ้าเราปราศจากเสียซึ่งจิตวิสัยทางความงาม ความงามของวัตถุที่มีอยู่จริงหรือไม่ก็ตาม ย่อมไร้ความหมาย ความงามอยู่ที่จิตใจของเรา เราเป็นผู้กำหนด นักสุนทรียศาสตร์บางกลุ่มก็รอมชอมความคิด คือผสานความคิดเข้าด้วยกันและเชื่อว่า ความงามหรือสุนทรียะเกิดขึ้นระหว่างความงามของวัตถุและความงามในจิตใจของเรา ความงามเกิดจากความสัมพันธ์ของวัตถุและสุนทรียภาพในตัวเรา ความงามของธรรมชาติ ความงามของภาพเขียน ความไพเราะงดงามของกวีนิพนธ์ อาจมีอยู่ แต่ตัวเราเองต้องมีศักยภาพในการชื่นชมหรือสื่อสารความงาม เราจึงจะสัมผัสกับความงามนั้นได้ วัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือวัดพระแก้วอาจสวยงามอลังการ ต่อเมื่อเรามีสุนทรียภาพ เราจึงชื่นชมความงามวัด พระแก้ว ความเชื่อเช่นนี้ เป็นแนวทางของ สัมพัทธนิยม (Relationism) (อ่าน สุเชาว์พลอยชุม. ๒๕๒๓)

อย่างไรก็ตาม สุนทรียภาพหรือความงามในตัวตนของเรา ย่อมมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต ทั้งชีวิตส่วนตนและชีวิตในสังคม สุนทรียภาพอาจเป็นภาพของความงามที่เกิดขึ้นในการรับรู้หรือในจิตใจ สุนทรียภาพอาจเป็นเสมือนคุณภาพที่จะใช้ตรวจสอบหรือสื่อสารกับความงาม
เมื่อกล่าวถึงคุณภาพในบุคคล ก็ย่อมมีดีกรีความแตกต่างมากหรือน้อยด้วยเช่นกัน สุนทรียภาพก่อให้เกิดความสุข ก่อให้เกิดความปีติ ก่อให้เกิดสันติสุข เป็นความรู้สึกที่เป็นนามธรรม แบ่งปันใครไม่ได้ ไม่มีผลประโยชน์ทางกายภาพ ทางวัตถุ หรือทางธุรกิจใดใด เป็นโลกส่วนตัวที่มีคุณค่าและมีความหมายต่อชีวิต แม้เราจะปราศจากหรืออ่อนด้อยในสุนทรียภาพ ชีวิตก็คงดำรงอยู่ได้ แต่เรากำลังสูญเสียศักยภาพที่มีความหมายยิ่งในชีวิต พร้อมกันนั้น “ความหมาย” ในการเป็นมนุษย์อาจอยู่ที่คุณค่าของ “สุนทรียภาพ” ในตัวตนด้วยเช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น