วันศุกร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

สุนทรียภาพกับการดำรงชีวิตส่วนตน

สุนทรียภาพกับการดำรงชีวิตส่วนตน
โลกของชาวตะวันออกเป็นโลกของการแสวงหาความสงบสุข ความสันโดษส่วนตน ความสงบสุขและความสันโดษที่ผูกพันอยู่กับธรรมชาติ เราพยายามศึกษาจากข้างใน จากตัวตนของเรา เพื่อนำไปแก้ปัญหาโลกภายนอก เช่น พุทธศาสนาสอนให้เรามี พรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เมตตา ที่มุ่งสร้างความรักความปรารถนาดีให้ผู้อื่นมีความสุข ให้โลกสันติสุข กรุณา ความสงสาร ความหวั่นไหว ช่วยให้ผู้อื่นเห็นทุกข์ ปลดเปลื้องทุกข์ มุทิตา ความชื่นชมยินดีที่เห็นผู้อื่นได้ดี มีความสุข ไม่อิจฉาริษยา อุเบกขา ความวางใจ เป็นกลางไม่เอนเอียง การใช้ปัญญาพิจารณาโดยสมควรแก่เหตุ สอนเรื่อง ไตรสิกขา สอนให้เรามีศีล สมาธิ ปัญญา สอนให้เราพร้อมและมั่นคงในความดีงาม มีความมุ่งมั่น มีสมาธิ มีความเพียรในการปฏิบัติหน้าที่การงาน และใช้ปัญญา ความรู้ ความคิด ในการปฏิบัติภารกิจต่างๆ เป็นต้น

ปรัชญาเต๋า ซึ่งกลายเป็นวิถีชีวิตของชาวจีนมานับด้วยพันปี เป็นทั้งความคิด วิถีการดำรงชีวิต และความงาม เป็นปรัชญาหรือหลักคิดที่กลั่นกรองออกมาจากธรรมชาติ หลักคิดหลักปฏิบัติเหล่านั้นเชื่อมโยงกับธรรมชาติและเพื่อความผสานกลมกลืนกับธรรมชาติ ความเรียบง่าย ความเป็นปกติธรรมดา ปรัชญาเต๋าได้กลายเป็นสิ่งเดียวกับคนจีน แยกออกจากกันไม่ได้ ปรัชญาเต๋าส่งอิทธิพลไปสู่แนวคิดและวิถีการดำรงชีวิตของชาติอื่นๆ ด้วย

ในคัมภีร์เต๋าเต็กเก็งของปราชญ์ เหลาจื้อ ซึ่งนิพนธ์มาแล้วกว่า ๒๕ ศตวรรษ ได้กล่าวถึงความงามว่า

เมื่อเต๋าอยู่ในทุกสิ่ง ความงามก็อยู่ในทุกสิ่ง ปราศจากขอบเขต เป็นอนันตภาพที่แผ่ครอบคลุมกว้างไพศาล ความงามมิได้มีเพียงในดอกไม้ ใบไม้ ธารน้ำใส ขุนเขา หรือในดวงจันทร์สว่างนวลเท่านั้น ความงามมิได้มีอยู่เพียงในสิ่งสวยงาม ในสิ่งสมบูรณ์ ในสิ่งสูงส่งเท่านั้น ความงามยังมีปรากฏอยู่ในสิ่งน่าเกลียด มีอยู่ในสิ่งบกพร่อง และสิ่งสามัญธรรมดาอันต่ำต้อย ในแผ่นกระดาษเก่าๆ ในไม้ผุๆ ในกะโหลกกะลา ในรูโหว่หลังคารั่ว ความงามยังมีอยู่ในโคลนตมที่สกปรก ในฝุ่นละออง ในดอกไม้ที่เหี่ยวแห้ง ในสีซีดๆ และในความเก่าคร่ำคร่า ความงามในรูปแบบอันพิกลผิดธรรมดาเหล่านี้ ได้ถอนทิ้งรูปแบบของความงามอย่างเก่าลงโดยสิ้นเชิง ความงามในรูปแบบใหม่ได้พุ่งฝ่าพ้นออกมาจากขอบเขต ออกไปสู่สาระที่แท้แห่งความงาม ไปสู่อนันตภาพที่กว้างไพศาล ไปสู่ต้นกำเนิดของโลกและจักรวาล ที่ซึ่งการแบ่งแยกยังไม่มีเกิดขึ้น แจกันลายครามนั้นงดงาม แต่ถ้วยแตก กะลาแตก ที่ตกทิ้งอยู่ตามดิน ก็งดงามปานกัน ดอกบ๊วยที่บานสล้างอยู่บนกิ่งสดชื่นอิ่มเอิบ กับดอกบ๊วยที่หลุดจากขั้วร่วงหล่นแห้งเหี่ยวอยู่บนพื้น ก็งดงามปานกัน ใครเลยอาจเข้าใจถึงความงามที่แท้นี้
(พจนา จันทรสันติ. ๒๕๓๐ : ๓๒๖)
อ่านบทกวีของ ตูฟู หนึ่งในกวีเต๋าที่เขียนพรรณนาถึงความงามแห่งฤดูใบไม้ผลิ ธรรมชาติ ความงดงาม และความธรรมดา

ค่ำคืนแจ่มกระจ่างแห่งฤดูใบไม้ผลิ
หลังจากพายุผ่านพ้น
ดาวประกายพฤกษ์พราวแสงอยู่เหนือลำน้ำ
ทางช้างเผือกขาวสะอ้านราวหิมะ
ฟากฟ้ามืดทะมึน ห้วงมหรรณพแผ่ไพศาล
บรรพตอุดรเลือนรางอยู่ในความมืด
ดวงจันทร์คล้ายกระจกใสผุดขึ้นมาจากความว่าง และเมื่อ
ค่อยโคจรขึ้นสูงหว่างฟากฟ้า
สาดส่องแสงโสม
หยาดน้ำค้างพราวพร่างบนกลีบดอกไม้
(พจนา จันทรสันติ. ๒๕๓๐ : ๓๑๗)

สังคมไทยได้รับกระแสอิทธิพลความคิดที่หลากหลาย ความหลากหลายนั้นก่อให้เกิดพลวัตขึ้นในสังคม ก่อให้เกิดการปรับตัวยืดหยุ่นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็รวมทั้งปรัชญาความคิดจากจีน ญี่ปุ่น อินเดีย ตะวันตก ปรัชญาความคิดต่างๆ ได้ช่วยปรับและขัดเกลาวัฒนธรรมไทย จนก่อให้เกิดลักษณะเฉพาะตัวทางวัฒนธรรม ลักษณะเฉพาะตัวทางการดำรงชีวิต รวมทั้งสุนทรียภาพในชีวิตด้วย ลองศึกษาความคิดของเสาหลักความคิดท่านหนึ่งจากอินเดียคือ รพินทรนาถ ฐากูร ซึ่งก็มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตและสุนทรียภาพในชีวิตของคนไทยไม่น้อย ท่านได้กล่าวถึงความงามที่สัมพันธ์กับสุนทรียภาพในชีวิต สุนทรียภาพส่วนตน ไว้ในบทนิพนธ์เรื่อง สาธนา ข้อความตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า

เราเข้าใจแจ้งในกฎของสัจธรรม โดยความเข้าใจต่อธรรมะและเราก็รู้แจ้งในกฎของความเหมาะสมกลมกลืน ด้วยความรู้สึกต่อความงาม การรู้จักกฎของธรรมชาติ ให้อำนาจและแรงงานทางวัตถุแก่เรา การรู้จักกฎของจริยธรรม ให้การชนะตนเองและอิสรภาพ เมื่อรู้กฎแห่งความกลมกลืน เราก็มีส่วนร่วมในความเบิกบานชื่นชมของโลกธาตุ ในศิลปะความงามก็แสดงออกอย่างทั่วไป ไม่มีขอบเขต เราจะเข้าใจชัดเจนและกว้างขวางในความสงบศานติสุขของวิญญาณ ก็ขณะเมื่อเรารู้ถึงความกลมกลืน อันมีภายในวิญญาณของเรา ความงามก็แสดงออกในชีวิตเราโดยทางคุณธรรมและความรัก มีจุดหมายคืออนันตภาพ นี่แหละคือจุดหมายสูงสุดของความเป็นอยู่ของเรา เราจะต้องรู้ชัดแจ้งว่า “ความงามคือสัจธรรมและสัจธรรมคือความงาม” เราจะต้องเข้าใจโลกแจ่มแจ้งด้วยความรัก เพราะว่าความรักให้กำเนิด ดำรงไว้และโอบมันเข้าสู่อ้อมอุระ เราจะต้องมีดวงใจเป็นอิสระอย่างแท้จริง อันจะทำให้เราสามารถเข้าหยั่งถึงกลางดวงใจของสรรพสิ่งและลิ้มรสความชื่นชมสูงสุด
(ระวี ภาวิไล. ๒๕๑๗ : ๑๕๓ - ๑๕๔)
จุนิจิโร ทานิซากิ พรรณนาถึงความงามและรสนิยมของญี่ปุ่น รวมทั้งชาวตะวันออก เปรียบเทียบกับความงามของชาวตะวันตก ข้อความตอนหนึ่งใน เยิรเงาสลัว (In Praise of Shadows) กล่าวว่า

ในขณะที่โลกตะวันตก แม้กระทั่งผีก็ใสราวแก้ว เครื่องใช้ในบ้านก็ทำนองเดียวกัน เราชอบสีที่มีส่วนผสมของความมืด แต่ชาวตะวันตกชอบสีของแสงสว่าง ในกรณีเครื่องใช้ที่ทำด้วยเงินและทองแดง เรานิยมชมชื่นกับรอยเลื่อมและคราบคล้ำๆ ซึ่งชาวตะวันตกเห็นว่าสกปรก ไม่ถูกสุขลักษณะ และขัดเครื่องใช้ให้ขึ้นเงาเจิดจ้า ชาวตะวันตกนิยมทาเพดานและผนังด้วยสีอ่อนๆ เพื่อทำลายเงาสลัวให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ในขณะที่เราปลูกสวนให้เต็มไปด้วยไม้หนาทึบ ชาวตะวันตกกลับปลูกสนามหญ้าให้ลาดกว้างออกไป อะไรเป็นปัจจัยก่อให้เกิดความแตกต่างถึงเพียงนี้ ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า เราชาวตะวันออกมักจะแสวงหาความพอใจจากสิ่งแวดล้อมที่เราอยู่ ดังนั้น ความมืดจึงไม่ได้สร้างความขัดเคืองแก่เรา เรายอมรับว่าความมืดเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าแสงมีอยู่น้อย เราก็ยอมรับว่ามีอยู่น้อย เราปล่อยตัวเราให้ซึมซาบในความมืด และ ณ ที่นั้น เราก็พบความงามตามแบบอย่างของมัน แต่ชาวตะวันตกผู้มีความคิดก้าวหน้า มีแต่จะพยายามทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น จากเทียนไปสู่ตะเกียงน้ำมัน จากตะเกียงน้ำมันสู่ตะเกียงก๊าซ จากตะเกียงก๊าซสู่ไฟฟ้า การแสวงหาแสงสว่างของชาวตะวันตกมีไม่รู้จบสิ้น และยอมเผชิญหน้ากับอุปสรรคทุกอย่าง เพื่อกำจัดเงาสลัวแม้แต่เพียงเล็กน้อยให้หมดสิ้นไป
(สุวรรณา วงศ์ไวศยวรรณ. ๒๕๐๗ : ๑๐๙ - ๑๑๐)
นักสุนทรียศาสตร์บางแนวคิดเชื่อว่า ความงามเป็น วัตถุวิสัยนิยม (Objectivism) นั่นหมายถึงว่า ความงามเป็นคุณสมบัติของวัตถุ ความงามอยู่ที่ตัววัตถุ อยู่ที่สรรพสิ่ง แม้เราไม่สนใจ ไม่ชื่นชม ความงามของสิ่งนั้นก็ยังมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความงามของธรรมชาติ ขุนเขา ท้องทะเล ทุ่งหญ้า ผลงานจิตรกรรม นาฏศิลป์ ดนตรี ฯลฯ นักสุนทรียศาสตร์บางกลุ่มไม่เห็นด้วยกับแนวคิดข้างต้น เพราะเชื่อว่า ความงามเป็น จิตวิสัยนิยม (Subjectivism) ถือว่าตัวบุคคลเป็นแหล่งคุณค่าของความงาม ความงามเกิดจากความรู้สึกนึกคิดของเราเอง ความงามคือประสบการณ์สุนทรียะ ถ้าเราปราศจากเสียซึ่งจิตวิสัยทางความงาม ความงามของวัตถุที่มีอยู่จริงหรือไม่ก็ตาม ย่อมไร้ความหมาย ความงามอยู่ที่จิตใจของเรา เราเป็นผู้กำหนด นักสุนทรียศาสตร์บางกลุ่มก็รอมชอมความคิด คือผสานความคิดเข้าด้วยกันและเชื่อว่า ความงามหรือสุนทรียะเกิดขึ้นระหว่างความงามของวัตถุและความงามในจิตใจของเรา ความงามเกิดจากความสัมพันธ์ของวัตถุและสุนทรียภาพในตัวเรา ความงามของธรรมชาติ ความงามของภาพเขียน ความไพเราะงดงามของกวีนิพนธ์ อาจมีอยู่ แต่ตัวเราเองต้องมีศักยภาพในการชื่นชมหรือสื่อสารความงาม เราจึงจะสัมผัสกับความงามนั้นได้ วัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือวัดพระแก้วอาจสวยงามอลังการ ต่อเมื่อเรามีสุนทรียภาพ เราจึงชื่นชมความงามวัด พระแก้ว ความเชื่อเช่นนี้ เป็นแนวทางของ สัมพัทธนิยม (Relationism) (อ่าน สุเชาว์พลอยชุม. ๒๕๒๓)

อย่างไรก็ตาม สุนทรียภาพหรือความงามในตัวตนของเรา ย่อมมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต ทั้งชีวิตส่วนตนและชีวิตในสังคม สุนทรียภาพอาจเป็นภาพของความงามที่เกิดขึ้นในการรับรู้หรือในจิตใจ สุนทรียภาพอาจเป็นเสมือนคุณภาพที่จะใช้ตรวจสอบหรือสื่อสารกับความงาม เมื่อกล่าวถึงคุณภาพในบุคคล ก็ย่อมมีดีกรีความแตกต่างมากหรือน้อยด้วยเช่นกัน สุนทรียภาพก่อให้เกิดความสุข ก่อให้เกิดความปีติ ก่อให้เกิดสันติสุข เป็นความรู้สึกที่เป็นนามธรรม แบ่งปันใครไม่ได้ ไม่มีผลประโยชน์ทางกายภาพ ทางวัตถุ หรือทางธุรกิจใดใด เป็นโลกส่วนตัวที่มีคุณค่าและมีความหมายต่อชีวิต แม้เราจะปราศจากหรืออ่อนด้อยในสุนทรียภาพ ชีวิตก็คงดำรงอยู่ได้ แต่เรากำลังสูญเสียศักยภาพที่มีความหมายยิ่งในชีวิต พร้อมกันนั้น “ความหมาย” ในการเป็นมนุษย์อาจอยู่ที่คุณค่าของ “สุนทรียภาพ” ในตัวตนด้วยเช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น