วันศุกร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

สุนทรียภาพกับการดำรงชีวิตในสังคม

สุนทรียภาพกับการดำรงชีวิตในสังคม
แม้สุนทรียะ ความงาม ความประณีตบรรจง อาจเป็นปรากฏการณ์ของโลกภายนอก ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม หรือความงามความไพเราะที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น จิตรกรรม ศิลปะ-การแสดง ดนตรี บทกวี ฯลฯ แต่ปรากฏการณ์เหล่านั้นก็สัมพันธ์กับสภาพการรับรู้หรือสุนทรียภาพของเรา สุนทรียภาพอาจเป็นโลกส่วนตัว เป็นความสุขส่วนตัว เป็นประสบการณ์เฉพาะบุคคลที่ไม่สามารถหยิบยื่นให้กันได้ ไม่สามารถช่วยเหลือกันได้ ความสุขของคนเราอาจอยู่ที่โลกนามธรรมภายในที่สัมพันธ์กับโลกของวัตถุภายนอก ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ประณีตบรรจง มีระบบระเบียบ ย่อมสัมพันธ์กับจิตใจที่มีระบบระเบียบ ประณีตงดงาม เราไม่อาจปฏิเสธทั้งโลกภายนอกหรือโลกภายใน



ศิลป์ พีระศรี กล่าวถึงโลกภายนอก ธรรมชาติที่สิ่งแวดล้อมและศิลปะ ที่ส่งผลสู่โลกภายในและศีลธรรมไว้ว่า

ความมีศีลธรรม หมายถึงความประพฤติดี ดำเนินตามกฎเกณฑ์แห่งอารยธรรมทางสังคมของเรา เพื่อที่จะบรรลุถึงความประพฤติดีดังกล่าวนี้ได้ การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด และศิลปะเป็นจุดศูนย์กลางแห่งการศึกษาอันสำคัญประการหนึ่ง ในทุกๆ ประเทศที่มีอารยธรรม ศิลปะก่อให้เกิดภาวะที่ถูกต้องทางความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ ประชาชนที่เกิดมาในแหล่งเสื่อมโทรม ย่อมจะเติบโตในท่ามกลางความรู้สึกอันขมขื่น และไม่คำนึงถึงหลักเกณฑ์ใดๆ ทางศีลธรรม เพราะสิ่งแวดล้อมของเขาขาดระเบียบ ก่อให้เกิดความเกลียดชัง ก่อให้เกิดความสิ้นหวังและความบกพร่องทางจิตใจ

ตรงกันข้าม ประชาชนที่ได้รับการเลี้ยงดูให้เติบโตมาในสิ่งแวดล้อมอันมีระเบียบ ในบ้านเมืองที่วางผังไว้เป็นอันดี มีถนนสะอาดสะอ้าน สองฝั่งถนนขนานไปด้วยอาคารที่สวยงาม มีอุทยานประดับตกแต่งด้วยรูปปั้นหล่อสลัก มีน้ำพุแลพิพิธภัณฑสถาน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ย่อมจะผูกพันให้เขาดื่มด่ำเอาความงามเข้าไว้ตั้งแต่เยาว์วัย ความงามจะค่อยๆ สร้างประสาทรู้สึกทางสุนทรียภาพของเขาอย่างช้าๆ แต่ติดต่อไม่ขาดสาย เด็กที่ทำให้คุ้นเคยต่อการพบเห็นสิ่งประณีตสวยงามนั้น ต่อไปก็จะกลายเป็นของจำเป็นต่อชีวิตของเด็ก ผลลัพธ์อันน่าพิศวง ซึ่งความงามมีอยู่เหนือธรรมชาติของเราก็คือ ทำให้ความคิดของเราประณีตสุขุมขึ้น ด้วยอาศัยศิลปะเราจะค่อยกลายเป็นคนดีขึ้นและประพฤติปฏิบัติไปตามกฎแห่งศีลธรรม ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้เมื่อราว ๒๕๐๐ ปีล่วงมาแล้ว
(ศิลป์ พีระศรี. ๒๕๐๘ : ๒๓)
อีกด้านหนึ่ง ถ้าการอยู่ในสภาพแวดล้อมขาดความเป็นระบบระเบียบ ขาดความประณีตสวยงาม ถ้าเขาผู้นั้นมีปัญญา มีความคิด สิ่งไร้ระเบียบนั้นอาจเป็นแรงกระตุ้น ก่อให้เกิดการแสวงหาสิ่งที่ดีกว่า แสวงหาสิ่งที่สวยงามประณีตบรรจงก็ได้ อาจคล้ายกับการได้ชื่นชมหรือเสพโศกศิลป์ (Tragic Art) เช่น โศกนาฏกรรม จิตรกรรมแสดงภาพสงคราม เพลงเพื่อชีวิต บทกวีที่พรรณนาความทุกข์ ฯลฯ ศิลปะเหล่านี้อาจกระตุ้นให้เราแสวงหาและชื่นชมสิ่งที่ประณีตงดงาม ชีวิตที่สันติสุขและความสวยงามได้ เมื่อเรามีความประณีตงดงาม มีสุนทรียภาพ สุนทรียภาพย่อมก่อให้เกิดความสุขส่วนตน ความสุขส่วนตนเป็นความสุขในเชิงปัจเจก เป็นความสุขเฉพาะบุคคล ถ้าเราไม่คับแคบจนเกินไป มีปัญญาและมีจิตสำนึกสาธารณะ (Public Mind) ความสุขส่วนตนย่อมส่งผลไปสู่ผู้อื่น ส่งผลไปสู่สังคม เพราะบุคคลหนึ่งย่อมดำรงชีวิตอยู่ในสังคมหนึ่ง ปัจเจกหนึ่งย่อมดำรงอยู่ในมวลปัจเจกเช่นกัน และถ้าทุกคนหรือทุกปัจเจกในสังคมจะส่งผ่านความสุขส่วนตน ความประณีตละเอียดอ่อนส่วนบุคคล ไปสู่สังคมโดยรวม สังคมย่อมเกิดสันติสุข

กล่าวโดยสรุปแล้ว สุนทรียภาพในเชิงปัจเจกย่อมมีคุณค่าทั้งต่อตนเองและต่อสังคม ๓ ด้าน คือ

๑. สุนทรียภาพก่อให้เกิดความสุขส่วนตน
๒. สุนทรียภาพก่อให้เกิดสันติสุขในสังคม
๓. สุนทรียภาพก่อให้เกิดการสร้างสรรค์ทางด้านศิลปกรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น