วันศุกร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

สุนทรียศาสตร์เชิงปรัชญาที่เน้นอารมณ์ความรู้สึกจินตนาการ

สุนทรียศาสตร์เชิงปรัชญาที่เน้นอารมณ์ความรู้สึกจินตนาการ
สุนทรียศาสตร์เชิงวิทยาศาสตร์ที่เน้นเหตุผล ตรรกะ แบบแผน สองขั้วซ้ายและขวาที่แตกต่างกันนี้ เรามีระดับของความเชื่อ ระดับของการรับรู้และชื่นชมต่างกัน เราอาจรับรู้ หรือ มีจุดยืนตรงกลาง หรือโน้มเอียงซ้ายหรือขวา
อย่างไรก็ตาม “สุนทรียะ” ย่อมมีทั้งสองด้านผสานกัน ดนตรีที่มีโน้ตและจังหวะ บทกวีที่มีฉันทลักษณ์ จิตรกรรมที่มีโครงสร้างพื้นภาพ การเต้นรำที่มีจังหวะการก้าว สถาปัตยกรรมที่มีการคำนวณในทางวิศวกรรม “เชิงวิทยาศาสตร์” ที่มีเหตุผลและตรรกะบนฐานของศิลปกรรมศาสตร์ มานุษยวิทยา และสังคมวิทยา



ความงามที่ผสานกันทั้งในเชิงปรัชญาและเชิงวิทยาศาสตร์ สัมพันธ์กับกระบวนการทำงานของสมอง (Brain System) สมองซีกซ้าย-ขวา (Left and Right Hemisphere) ที่แยกภารกิจแต่ทำงานผสานกัน การรับรู้และการทำงานของสมองซีกซ้ายจะเน้นหนักไปทางเหตุผล ตัวเลข ภาษา การคาดคำนวณ การวิเคราะห์ การวางแผน สมองซีกขวาที่เน้นหนักไปทางภาพ จินตนาการ อารมณ์ความรู้สึก มิติสัมพันธ์ การสังเคราะห์ ภาพรวม สมองทั้ง 2 ซีก ทำงานผสานกันด้วย คอร์พัส แคลโลซัม (Corpus Callosum) ทำให้คนเรามีเหตุผลและอารมณ์ควบคู่กันไป พร้อมทั้งมีวุฒิภาวะทางปัญญา (IQ) และวุฒิภาวะทางอารมณ์ (EQ) ควบคู่กันไปด้วยเช่นกัน



การค้นพบการทำงานของสมองดังกล่าว อาจสอดคล้องกับแนวคิดลัทธิเต๋าของจีนเกี่ยวกับหยิน-หยาง พลังของหยิน-หยางทั้งในธรรมชาติและชีวิต
หยินคือ หญิง ดวงจันทร์ ความมืด ฤดูหนาว ฤดูใบไม้ร่วง อารมณ์ การยอมจำนน ฯลฯ
หยางคือ ชาย ดวงอาทิตย์ แสงสว่าง ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ผลิ เหตุผล ก้าวร้าว ฯลฯ



สรรพสิ่งในโลกล้วนประกอบขึ้นจากทั้งสองสิ่งนี้ คือความเคลื่อนไหวและความสงบนิ่ง เคลื่อนไหวแล้วสงบนิ่ง สงบนิ่งแล้วเคลื่อนไหว มีความประสานกลมกลืนอย่างยิ่งยวด นี่คือหลักแห่งเต๋า ดอกไม้เบ่งบานขึ้นแล้วร่วงโรย ใบไม้เขียวขจีแล้วแปรเปลี่ยนเป็นเหลืองซีดจนหลุดร่วงไปจากขั้ว มีฤดูใบไม้ผลิและติดตามมาด้วยฤดูใบไม้ร่วง เมื่อสรรพสิ่งเคลื่อนไหวจะเต็มไปด้วยพลังและการสร้างสรรค์ ดอกไม้เติบโตขึ้นจากปุ่มปมสีเขียว แล้วเบ่งบานออก เมื่อพลังแห่งการสร้างสรรค์ได้เปี่ยมล้นขึ้นจนถึงขีดสุด ดอกไม้ก็จะค่อยๆ ร่วงโรยไป กลับไปพักผ่อนอย่างสงบอยู่บนพื้นดิน สรรพสิ่งหมุนเวียนเปลี่ยนแปรไม่หยุดยั้ง เปลี่ยนแปรและย้อนกลับหมุนวนเหมือนวัฏจักร (พจนา จันทรสันติ. ๒๕๓๐ : ๓๓๓)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น