วันศุกร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

การเข้าถึงความงามในงานจิตรกรรม

การเข้าถึงความงามในงานจิตรกรรม
ลักษณะความงามในงานจิตรกรรมไทยประเพณีอยู่ที่ความประณีตสวยงาม แสดงความรู้สึกถึงความมีชีวิตจิตใจและความเป็นไทยที่มีความอ่อนโยนละมุนละไมจนเกิดเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ตัวอย่างของงานจิตรกรรมไทย เช่นภาพมารผจญ ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์กรุงเทพฯ

งานจิตรกรรมชิ้นนี้ใช้เทคนิคสีฝุ่น (Tempera) ในการวาด เริ่มแรกช่างต้องเตรียมฝาผนังปูนด้วยการนำใบขี้เหล็กสดมาตำกรองน้ำมาล้างผนังหลาย ๆ ครั้งเพื่อล้างความเค็ม เมื่อผนังแห้งใช้ขมิ้นชันสดลองขีดบนผนังถ้าเป็นสีแดงแสดงว่าผนังยังคงมีความเค็มอยู่ ถ้าเป็นสีเหลืองแสดงว่าผนังหมดความเค็มใช้การได้ จากนั้นนำเม็ดมะขามมาคั่วแล้วต้มจนกลายเป็นแป้งเปียกผสมกับดินสอพองทาบนผนัง เมื่อแห้งแล้วจึงใช้กระดาษขัดพื้นให้เรียบเสมอกันแล้วจึงลงมือร่างภาพ ระบายสี ปิดทองแล้วจึงตัดเส้น
เนื้อหาในภาพเป็นตอนหนึ่งในพุทธประวัติที่รู้จักกันว่า “มารผจญ” หรือ “มารวิชัย” เป็นตอนที่พระพุทธองค์ใกล้บรรลุโพธิญาณแต่มีพญามารเข้ามาขัดขวาง ทำให้พระองค์ต้องเรียกพระแม่ธรณีขึ้นมาเป็นพยานในการทำความดี และช่วยปราบเหล่ามารให้พ่ายแพ้ไป บริเวณตรงกลางด้านบนเป็นพระพุทธองค์ประทับนั่งใต้โพธิ์บัลลังก์ ถัดลงมาเป็นพระแม่ธรณีประทับยืนบีบมวยพระเกศา ด้านซ้ายของพระพุทธองค์เป็นกองทัพพญามารและด้านขวาเป็นภาพเหล่ามารที่ถูกน้ำพัดพากระจัดกระจาย
โดยทั่วไปเมื่อเราพิจารณาถึงความงามในงานจิตรกรรมไทย สิ่งที่โดดเด่นที่สุดคือการใช้เส้นที่อ่อนหวาน การตัดเส้นที่มีน้ำหนักอ่อนแก่ รองลงมาอาจเป็นเรื่องของสี รูปร่างรูปทรงและการจัดวางพื้นที่ว่าง ในที่นี้ เส้นโค้งและรูปร่างของเหล่ากองทัพมารที่พุ่งเข้าหาพระพุทธองค์ในทิศทางเดียวกันเป็นการเน้นให้เห็นถึงจุดเด่นที่อยู่ตรงกลาง ในขณะที่อีกด้านหนึ่งของภาพ เส้นโค้งของเหล่ามารที่แลดูเคลื่อนที่อย่างไร้ทิศทางสร้างความรู้สึกโกลาหลสอดคล้องกับเหตุการณ์ในพุทธประวัติ สีแดงชาดที่ช่างใช้เป็นสีของพื้นหลังยิ่งเพิ่มความรู้สึกตื่นเต้นและความสว่างไสว รวมทั้งการปิดทองเพื่อเน้นถึงจุดเด่นในจังหวะที่เหมาะสมทำให้องค์ประกอบทางความงามในงานจิตรกรรมชิ้นนี้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น
หากพิจารณาในแง่ของคุณค่าทางสังคมและวัฒนธรรมนับว่ามีค่าสูงยิ่ง เนื่องจากเป็นผลงานที่วาดขึ้นตั้งแต่สมัยเริ่มสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ราวปี พ.ศ.2325 นับถึงเวลานี้เป็นเวลากว่า 200 ปี แม้ว่าจะมีการวาดซ่อมมาโดยตลอดแต่โครงของภาพโดยรวมเชื่อว่าเป็นฝีมือของช่างในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ยังมีคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์อีกหลายด้าน เช่น สะท้อนให้เห็นว่าวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์เป็นที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 1 เนื่องจากจิตรกรเลือกใช้ตัวทศกัณฐ์แทนพระยาวัสวดีมาร หรือจากการที่จิตรกรที่ไม่เคยเห็นว่ามารมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร แต่ก็สามารถวาดภาพมารออกมาให้มีลักษณะที่ต่างกันแสดงถึงความคิดสร้างสรรค์อันชาญฉลาดของช่างผู้วาด ฯลฯ จากคุณค่าต่าง ๆ ที่ยกตัวอย่างมานี้ประกอบกับขั้นตอนที่ยุ่งยากในการสร้างงานจิตรกรรมไทย ทำให้เราเห็นถึงความศรัทธาและความอุตสาหะของคนในสมัยโบราณได้เป็นอย่างดี
ตัวอย่างของงานจิตรกรรมตะวันตก ได้แก่ภาพอาหารเย็นมื้อสุดท้าย (The Last Supper) ของจิตรกร ลีโอนาโด ดาวินชี (Leonado Davinci) วาดในหอฉันของวัดซานตา มาเรีย เดลลา กราซิเอ (Santa Maria delle Grazie) เมืองมิลาน ประเทศอิตาลีในช่วงปี ค.ศ. 1494 – 1497 ใช้สีฝุ่นในการวาด

โดยทั่วไปแล้ว เทคนิคสีฝุ่นที่ใช้วาดบนจิตรกรรมฝาผนังในโลกตะวันตกเป็นเทคนิคการนำสีฝุ่นมาผสมน้ำเขียนบนผนังปูนที่ยังเปียกอยู่ที่มีชื่อเรียกเฉพาะว่า เฟรสโก (Fresco) กล่าวคือศิลปินต้องเตรียมฉาบผนังปูนจำนวนหนึ่งแล้วจึงลงมือร่างภาพระบายสีให้เสร็จทันก่อนผนังปูนจะแห้งลง ซึ่งเป็นเทคนิคที่ต้องการความฉับไวและความแม่นยำอย่างมาก แต่ในงานชิ้นนี้ดาวินชีได้ทดลองเอาน้ำมันมาเป็นตัวผสมกับสีฝุ่นเพื่อต้องการให้สีสดใสและทดลองเขียนบนผนังปูนที่แห้งแล้ว (Laurie Schneider Adams, 2001 : 280)
เนื้อหาที่วาดเป็นเหตุการณ์ตอนหนึ่งของพระคริสต์ เป็นตอนที่พระองค์ถูกไล่ล่าจากทหารโรมันและรับประทานอาหารมื้อสุดท้ายพร้อมกับสาวกอีก 12 องค์ก่อนที่จะถูกจับตัวไป ในภาพพระคริสต์ทรงอยู่ในพิธีฉลองอาหารค่ำของพระเป็นเจ้า และทรงประกาศว่าจะมีสาวกองค์หนึ่งในที่นั้นคิดทรยศโดยบอกที่ซ่อนของพระองค์ต่อทหารโรมัน
องค์ประกอบของภาพมีพระคริสต์อยู่ตรงกลาง พระพักตร์สงบนิ่ง เมื่อสิ้นเสียงคำประกาศของพระองค์เหล่าสาวกทั้ง 12 องค์ที่อยู่ด้านซ้ายและด้านขวาต่างแสดงอากัปกิริยาและสีหน้าที่แตกต่างกันไป บ้างก็แสดงความตระหนกตระหนกใจ บ้างก็โศกเศร้า บ้างก็โน้มตัวเข้าหากันเพื่อปรึกษาหารือ ถ้าเราดูให้ดีจะพบว่าดาวินชีสามารถถ่ายทอดอารมณ์และท่าทางของเหล่าสาวกแต่ละองค์ได้อย่างน่าสนใจ เส้นอันเกิดจากความโกลาหลของบุคคลในภาพที่เคลื่อนไหวไปมาขัดแย้งกับท่าทางของพระคริสต์ที่นิ่งเฉย ฉากหลังมีการใช้หลักการทัศนีวิทยา (Perspective) ให้เส้นพุ่งตรงเข้าหาพระคริสต์ที่อยู่ตรงกลาง ด้านหลังสุดมีหน้าต่างจำนวน 3 บานเผยให้เห็นภาพทิวทัศน์ที่สามารถมองทะลุออกไปไกลช่วยให้งานจิตรกรรมชิ้นนี้มีความลึกคล้ายภาพที่มองเห็นจริงในธรรมชาติ ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของพัฒนาการในงานจิตรกรรมสมัยเรอนาซอง ดาวินชีใช้วิธีการควบคุมโทนสีและบรรยากาศของภาพให้ดูมืดสลัวเพื่อต้องการแสดงบรรยากาศศักดิ์สิทธิ์ลึกลับ และมีการไล่น้ำหนักแสงเงาเลียนแบบธรรมชาติได้อย่างน่าอัศจรรย์
เมื่อพิจารณาถึงคุณค่าความงามในแง่ของสังคมและวัฒนธรรมพบว่ามีค่าสูงยิ่งเนื่องจากเป็นผลงานที่วาดขึ้นตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 นับถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 500 ปี โดยภาพดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความศรัทธาในศาสนาคริสต์ที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อสังคมยุโรปในขณะนั้น อีกทั้งเป็นผลงานของศิลปินที่ได้พิสูจน์ตนเองมาแล้วว่ามีความสามารถหลาย ๆ ด้าน เป็นต้นแบบของนักคิดที่พยายามทดลองเทคนิคใหม่ ๆ ในการสร้างผลงานที่สะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางความคิดของมนุษย์ โดยเฉพาะเป็นสิ่งที่เป็นตัวแทนของความสำเร็จในการแก้ปัญหางานจิตรกรรมให้มีลักษณะ 3 มิติได้อย่างสมบูรณ์ ปัจจุบันภาพดังกล่าวเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของเมืองมิลานที่นักท่องเที่ยวที่ชื่นชมงานศิลปะได้แวะเวียนไปเยี่ยมชมปีละนับล้านคน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น