วันศุกร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

การเข้าถึงความงามในงานประติมากรรม

การเข้าถึงความงามในงานประติมากรรม
ลักษณะความงามในงานประติมากรรมไทยอยู่ที่ความประณีตและอ่อนหวาน ในที่นี้จะยกตัวอย่างการเข้าถึงความงามในงานพระพุทธรูปแบบสุโขทัยพระพุทธรูปลักษณะเช่นนี้จัดอยู่ในศิลปะสุโขทัยที่เจริญอยู่ในบริเวณภาคเหนือตอนล่างของไทยราวพุทธศตวรรษที่ 19 - 20 และเป็นพุทธศิลป์ที่ได้รับการยกย่องว่างามที่สุดสมัยหนึ่ง เทคนิคการสร้างคือการหล่อสำริดและเป็นเทคนิคการหล่อกลวง กล่าวคือเนื้อวัสดุที่เป็นโลหะจะปรากฏเป็นรูปทรงที่มองเห็นภายนอก ปริมาตรภายในไม่ทึบตัน เริ่มแรกช่างจะต้องเตรียมต้นแบบขึ้นโกลนพระพุทธรูป จากนั้นนำขี้ผึ้งมาปั้นโดยเก็บรายละเอียดอย่างประณีตบรรจง ขั้นตอนนี้มีความละเอียดอย่างมากเนื่องจากส่วนที่เป็นขี้ผึ้งจะถูกแทนที่ด้วยเนื้อโลหะ เมื่อเสร็จแล้วจึงทำพิมพ์ครอบและยึดพิมพ์ชั้นนอกกับต้นแบบข้างในไม่ให้เคลื่อนที่หลุดออกจากกัน จากนั้นจึงเตรียมฉนวนสำหรับการเทเนื้อโลหะ เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการดังกล่าวจึงนำไปสุมไฟเพื่อสำรอกให้ขี้ผึ้งละลายออกมาแล้วจึงค่อยเทเนื้อโลหะที่หลอมเหลวเข้าไปแทนที่ ทิ้งไว้จนแห้งจึงค่อยแกะพิมพ์และขัดตกแต่งผิวหน้าให้เรียบเสมอกัน จากนั้นจึงมีการทาด้วยน้ำรักและปิดทองให้สวยงาม
จากขั้นตอนดังกล่าวเห็นได้ว่ามีความซับซ้อนยิ่งช่างผู้สร้างต้องมีความอุตสาหะประกอบกับฝีมือ ความชำนาญและความศรัทธาอย่างมาก จึงจะสามารถสร้างงานศิลปะเช่นนี้ให้สำเร็จได้
เมื่อพิจารณาความงามทางด้านองค์ประกอบศิลปะพบว่าช่างผู้สร้างได้ใช้เส้นโค้งได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว ปริมาตรของประติมากรรมไม่ดูทึบตันแต่มีรูปทรงโค้งรับกันไปมาไม่ว่าจะเป็นเส้นโค้งที่ประกอบกันเป็นพระพักตร์รูปไข่ เส้นไรพระศกที่โค้งจรดกันเป็นมุมแหลมที่กลางพระนลาฏ เส้นพระขนงโค้งล้อไปตามเส้นไรพระศกและวาดต่อลงมาที่พระนาสิกซึ่งโด่งรับกับวงพระพักตร์ ลักษณะของพระเนตรหลุบต่ำแสดงอาการสงบนิ่ง มุมพระโอษฐ์ยกขึ้นเล็กน้อยเพื่อแสดงถึงความเมตตากรุณาที่มีต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย
เมื่อเราพิจารณาถึงสาระหรือแนวคิดทางพุทธศาสนาที่สะท้อนอยู่ในงานประติมากรรมเราจะพบว่าช่างผู้สร้างได้ถ่ายทอดแนวคิดของพุทธศาสนาแบบเถรวาทได้เป็นอย่างดี เนื่องจากหลักสำคัญสูงสุดคือการประกอบกรรมดีเพื่อให้บรรลุถึงนิพพานซึ่งก็คือการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด กรรมดีดังกล่าวผู้กระทำต้องประพฤติปฏิบัติด้วยตนเอง มิใช่การกราบไหว้บูชาหรืออ้อนวอนสิ่งใด แนวคิดนี้สะท้อนให้เห็นในงานประติมากรรมคือความงามที่สงบเรียบง่าย ไร้การตกแต่งใด ๆ ส่งเสริมให้จิตใจเกิดความสงบและมีสมาธิ ความสงบเรียบง่ายนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมของสุโขทัยว่าเป็นสังคมที่สงบสุขร่มเย็นตามลักษณะการปกครองแบบพ่อปกครองลูกได้เป็นอย่างดี
ปัจจุบันนี้หากเราได้มีโอกาสเดินตามแหล่งเช่าพระพุทธรูปแหล่งใหญ่ ๆ ในกรุงเทพฯ เช่น ตรอกวัดสุทัศน์ ฯลฯ เราจะพบว่าพระพุทธรูปที่ได้รับการสร้างขึ้นใหม่ส่วนใหญ่จะเลียนแบบความงามของศิลปะแบบสุโขทัยทั้งสิ้นเนื่องจากความงามดังกล่าวเป็นความงามที่ลงตัวและสะท้อนสาระทางพุทธศาสนาได้อย่างเหมาะสมที่สุดนั่นเอง
ต่อไปจะยกตัวอย่างประติมากรรมตะวันตก ได้แก่งาน “The Kiss” ของ โอกุสต์ โรแดง (Auguste Rodin)โอกุสต์ โรแดงเป็นศิลปินชาวฝรั่งเศส เกิดในกรุงปารีสช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 เขาได้สร้างประติมากรรม “The Kiss” ขึ้นในปี ค.ศ. 1886 ด้วยเทคนิคการแกะสลักจากหินอ่อน ผลงานดังกล่าวมีขนาดราว 75 X 47 X 45 นิ้ว กล่าวกันว่าประติมากรรมของโรแดงส่วนใหญ่ได้รับแรงบันดาลใจจากไมเคิล แองเจลโล ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ในสมัยเรอนาซอง
เมื่อศึกษาความงามทางด้านองค์ประกอบศิลปะพบว่าศิลปินได้มีการจัดวางรูปทรง 2 รูปทรงและท่าทางของประติมากรรมได้อย่างสอดประสานกลมกลืน มีการแสดงลักษณะทางกายวิภาคของมนุษย์เพศชายและหญิงได้อย่างสมส่วนโดยปราศจากความรู้สึกทางโลกีย์ มีการใช้เส้นแสดงความเคลื่อนไหวไปมาทำให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างรูปทรง รูปทรงทั้ง 2 โน้มเข้าหากันและต่างรับน้ำหนักซึ่งกันและกันไว้อย่างทะนุถนอม สีขาวของงานประติมากรรมเมื่อสัมผัสกับแสงทำให้เกิดน้ำหนักเข้ม – อ่อนที่ไล่ระดับกันอย่างชัดเจน ประกอบกับพื้นผิวขององค์ประกอบหลักในภาพได้รับการขัดแต่งอย่างเรียบเนียนยิ่งส่งผลให้เกิดความรู้สึกนุ่มนวล ละมุนละไม สอดคล้องกับเนื้อหาที่ศิลปินต้องการถ่ายทอดความรู้สึกของคู่รักชาย – หญิงที่กำลังจูบกันอย่างดูดดื่ม
อย่างไรก็ดีศิลปินได้ควบคุมความนุ่มนวลอ่อนหวานที่อาจมีมากเกินไปในงานประติมากรรมด้วยการจัดวางท่าทางของบุคคลบนแท่งหินหรือก้อนหินที่มีขนาดกว้างดูเทอะทะและมีพื้นผิวที่ขรุขระหยาบกระด้างทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างรูปทรงชายหญิงทั้ง 2 ที่ได้รับการขัดแต่งอย่างประณีต แต่ความขัดแย้งดังกล่าวยิ่งเป็นตัวเสริมให้เกิดจุดเด่นที่องค์ประกอบหลักของงานและส่งผลให้งานชิ้นนี้มีเอกภาพในการจัดวางองค์ประกอบทางศิลปะได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุดชิ้นหนึ่ง
เมื่อพิจารณาถึงความงามในแง่ของคุณค่าทางสังคมและวัฒนธรรมนับว่ามีค่าสูงยิ่งเนื่องจากเป็นตัวแทนของโลกยุคใหม่ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นช่วงสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในวงการศิลปะของยุโรปที่กำลังก้าวเข้าสู่การทดลองและการแสวงหาแนวทางในการนำเสนอสิ่งใหม่ ๆ ต่อสังคม มีการให้ความสำคัญกับความคิดและจิตวิญญาณของมนุษย์มากขึ้นจนเกิดเป็นลัทธิทางศิลปะแบบอิมเพรสชั่นนิสม์ที่เป็นภาพสะท้อนถึงความคิดและความประทับใจของศิลปินที่มีต่อสรรพสิ่งรอบกาย
งานของโรแดงเป็นการผสมผสานเอาลักษณะบางประการของศิลปะสมัยเรอนาซองที่สมบูรณ์แบบในเรื่องการถ่ายทอดลักษณะทางกายวิภาคของมนุษย์ บวกกับแนวคิดที่สะท้อนถึงความรู้สึกอันแสนธรรมดาของปุถุชนทั่วไป เช่น ความรู้สึกรักแบบหนุ่มสาว ความรู้สึกรักชาติ ความไม่สมบูรณ์แบบของร่างมนุษย์ ฯลฯ ผลงานของเขาแสดงถึงโลกที่เปิดเสรีทางความคิดและสะท้อนลักษณะเฉพาะตัวซึ่งเป็นหัวใจในการนำเสนอผลงานในวงการศิลปะสมัยใหม่สืบมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น