วันศุกร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

สุนทรียศาสตร์เพื่อชีวิต

สุนทรียศาสตร์เพื่อชีวิต

สังคมไทยเป็นสังคมที่สะท้อนกระแสพุทธธรรม ตามแนวความเชื่อทางพุทธศาสนาเป็นกระแสหลัก หลักธรรมต่างๆ เป็นหลักธรรมในโลกของธรรมบริสุทธิ์หรือที่เรียกว่า โลกุตรสัมมาทิฐิ การใช้ชีวิตในสังคมในฐานะปุถุชน การศึกษา การทำงาน การมีครอบครัว การเลี้ยงชีพ การมีความสุข ความทุกข์ ความรื่นรมย์ยินดี ซึ่งเป็นโลกของ โลกียสัมมาทิฐิ ต้องประยุกต์หลักธรรมต่างๆ มาใช้ในชีวิตจริง ในสังคมจริง ซึ่งก็คงมิใช่เพียงพุทธศาสนิกชนเท่านั้น หลักธรรมของทุกศาสนาล้วนเป็นสิ่งดีงาม เป็นสิ่งดีงามในโลกที่จะพัฒนามนุษย์ให้มีชีวิตร่วมกันในสังคมอย่างสันติสุข

กล่าวเฉพาะพุทธธรรม หลักไตรสิกขา “สิกขา” ที่หมายถึง การฝึกฝนอบรม การเพิ่มพูน การทำให้เจริญ ซึ่งประกอบด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา

พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต) กล่าวว่า ศีล คือการดำรงตนอยู่ด้วยดี มีชีวิตที่เกื้อกูล ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ตนมีส่วนร่วม ช่วยสร้างสรรค์รักษาให้เอื้ออำนวยแก่การมีชีวิตที่ดีงามร่วมกัน เป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับการพัฒนาคุณภาพจิตและการเจริญปัญญา

สมาธิหรือจิต คือการพัฒนาคุณภาพจิตหรือปรับปรุงจิตให้มีคุณภาพและสมรรถภาพสูง ซึ่งเอื้อแก่การมีชีวิตที่ดีงาม และพร้อมที่จะใช้ปัญญาอย่างได้ผลดีที่สุด

ปัญญา คือการมองดูรู้จักและเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง หรือรู้เท่าทันธรรมดาของสังขาร ธรรมทั้งหลายที่ทำให้เป็นอยู่และทำการต่างๆ ด้วยปัญญา คือรู้จักวางใจ วางท่าที และปฏิบัติต่อโลกและชีวิตได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ในทางที่เป็นไปเพื่อแผ่ขยายประโยชน์สุข มีจิตใจผ่องใส ไร้ทุกข์ เป็นอิสระเสรี และสดชื่นเบิกบาน

ศีล สมาธิ ปัญญา ที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิต (Means of Life) ประกอบด้วย
ความเห็นชอบ (Right Understanding)
ดำริชอบ (Right Thought)
วาจาชอบ (Right Speech)
กระทำชอบ (Right Action)
เลี้ยงชีพชอบ (Right Livelihood)
พยายามชอบ (Right Effort)
ระลึกชอบ (Right Mindfulness)
จิตมั่นชอบ (Right Concentration)






ความเข้าใจใน ไตรลักษณ์ ซึ่งเป็นกฎของธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นชีวิต ธรรมชาติ ความงาม ล้วนสัมพันธ์กับอนิจจตา ทุกขตา อนัตตา

อนิจฺจตา (Impermanence) ความไม่เที่ยง ความไม่คงที่ ความไม่ยั่งยืน ภาวะที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมและสลายไป

ทุกฺขตา (Stress and Conflict) ความเป็นทุกข์ ภาวะที่ถูกบีบคั้นด้วยการเกิดขึ้นและสลายตัว ภาวะที่กดดัน ฝืน และขัดแย้งอยู่ในตัว เพราะปัจจัยที่ปรุงแต่งให้มีสภาพเป็นอย่างนั้นเปลี่ยนแปลงไป จะทำให้คงอยู่สภาพนั้นไม่ได้ ภาวะที่ไม่สมบูรณ์ มีความบกพร่องอยู่ในตัว ไม่ให้ความสมอยากแท้จริง หรือความพึงพอใจเต็มที่แก่ผู้อยากด้วยตัณหา และก่อให้เกิดทุกข์แก่ผู้เข้าไปอยากเข้าไปยึดด้วยตัณหาอุปาทาน

อนัตฺตตา (Soullessness หรือ Non-self) ความเป็นอนัตตา ความไม่ใช่ตัวตน ความไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมันเอง

การใช้ชีวิตในสังคม การครองตน หรือการศึกษา จำเป็นต้องมีโยนิโสมนสิการ วิธีการแห่งปัญญา เมื่อเทียบในกระบวนการพัฒนาปัญญา โยนิโสมนสิการอยู่ในระดับที่เหนือศรัทธา เพราะเป็นขั้นที่เริ่มใช้ความคิดของตนเป็นอิสระ ส่วนในระบบการศึกษาอบรม โยนิโสมนสิการเป็นการฝึกการใช้ความคิด ให้รู้จักคิดอย่างถูกวิธี คิดอย่างมีระเบียบ รู้จักคิดวิเคราะห์ ไม่มองเห็นสิ่งต่างๆ อย่างตื้นๆ ผิวเผิน เป็นขั้นสำคัญในการสร้างปัญญาที่บริสุทธิ์ เป็นอิสระ ทำให้ทุกคนช่วยตนเองได้ และนำไปสู่จุดหมายของพุทธธรรมอย่างแท้จริง (พระธรรมปิฎก. ๒๕๔๑ : ๖๐๑-๖๐๔, ๖๗-๖๘, ๖๖๗)

ชีวิตที่ถูกทำนองครองธรรมและประณีตงดงามย่อมเป็นชีวิตที่มีสุนทรียะ

สุนทรียะ สุนทรียภาพ และสุนทรียศาสตร์
สุนทรียะ คือความงาม
สุนทรียภาพ คือความรู้สึกในความงาม
สุนทรียศาสตร์ คือศาสตร์ที่เกี่ยวกับความงาม

สุนทรียะหรือความงาม อาจเป็นความงามของศิลปกรรม ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งความประณีตงดงามของจิตใจ ความประณีตงดงามของการใช้ชีวิตส่วนตัวและชีวิตส่วนรวม ศิลปกรรม (Fine Arts) ที่หมายความรวมถึงทัศนศิลป์ ดนตรี ศิลปะการแสดง สถาปัตยกรรม วรรณกรรม

สุนทรียภาพ ที่หมายถึงความรู้สึกในความงาม ภาพที่งดงามในความคิดหรือภาพของความงามในสมอง (Image of Beauty) ศักยภาพของการรับรู้ความงามที่สามารถสัมผัสหรือรับความงามได้ต่างกัน ความงามที่อาจเกิดจากภาพ จากเสียง จากจินตนาการ จากตัวอักษร หรือประสาทสัมผัสอื่นๆ

สุนทรียศาสตร์ ที่หมายถึงศาสตร์หรือวิชาที่เกี่ยวกับความงาม ตามแนวคิดของชาวตะวันตกแล้ว สุนทรียศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของปรัชญา ปรัชญาตะวันตกที่มีรากเหง้ามาจากปรัชญากรีกโบราณ ปรัชญาที่เป็นการแสวงหาหรือความรักในภูมิปัญญา (Love of Wisdom) ปรัชญากรีกที่มุ่งแสวงหาความจริง ความดี และความงาม การแสวงหาความจริงที่มีวิวัฒนาการมาสู่วิทยาศาสตร์ (Science) ความดีที่เกี่ยวข้องกับจริยศาสตร์ (Ethics) และความงามที่เกี่ยวข้องกับสุนทรียศาสตร์ (Aesthetics) ปรัชญาหรือสุนทรียศาสตร์ที่อาจเป็นเรื่องของความเชื่อ เรื่องของทรรศนะ หรือเรื่องของเหตุผล ในบริบทความคิดใดความคิดหนึ่ง ในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง หรือของนักปรัชญาหรือของนักสุนทรียศาสตร์คนใดคนหนึ่ง

พระราชวรมุนี (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) กล่าวถึงสุนทรียศาสตร์ว่า

สุนทรียศาสตร์ คือสาขาปรัชญาที่ว่าด้วยความงามและสิ่งที่งาม ทั้งในงานศิลปะและในธรรมชาติ โดยศึกษาประสบการณ์ คุณค่าของความงาม และมาตรการตัดสินใจว่า อะไรงามหรือไม่งาม การตัดสินคุณค่าทางสุนทรียศาสตร์มีได้ ๓ ลักษณะคือ ความสวยงาม ความติดตาติดใจ ความเลอเลิศ นักปรัชญาหลายสำนักได้เสนอทฤษฎีเพื่ออธิบายว่า เพราะเหตุใดจึงมีการตัดสินใจว่า ศิลปวัตถุประกอบด้วยลักษณะทั้งสามนั้น นักปรัชญาดังกล่าวแบ่งเป็น ๓ กลุ่มคือ

๑. กลุ่มอารมณ์นิยม (Emotionalist) อธิบายว่า การตัดสินเกิดจากอารมณ์ที่เก็บกดไว้ในจิตใต้สำนึก
๒. กลุ่มเหตุผลนิยม (Rationalist) อธิบายว่า การตัดสินเกิดจากการเห็นความกลมกลืนไม่ขัดตา
๓. กลุ่มสร้างสรรค์ (Creativist) อธิบายว่า การตัดสินเกิดจากความสามารถสร้างสรรค์ของมนุษย์ (พระราชวรมุนี. ๒๕๔๐ : ๑๖)

ชนชาติตะวันตกหรือชนชาติตะวันออก รวมทั้งชนชาติไทย ก็มีความงามในลักษณะเฉพาะตัว มีความเชื่อ มีทรรศนะ มีเหตุผลในความงามของตนเอง เป็นสุนทรียศาสตร์ที่สืบทอดกันมาตามสายวัฒนธรรม ส่วนว่าจะมีพัฒนาการที่หลากหลายหรือมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น ปรัชญาตะวันตกหรือไม่นั้น ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง

ตัวอย่างภาพผลงานจิตรกรรมของศิลปินชาวฝรั่งเศส เชื้อสายสเปน พาโบล ปิคาสโซ (Pablo Picasso) ศิลปินเอกคนหนึ่งของโลก ชื่อภาพ “ชีวิต” เป็นจิตรกรรมสมัยใหม่ที่เขียนขึ้นตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ (๑๙๐๓) เป็นภาพเขียนสีน้ำมันในช่วงที่ปิคาสโซนิยมระบายสีด้วยสีน้ำเงิน สีน้ำเงินที่ให้ความรู้สึกเศร้า เงียบขรึม สงบ สมาธิ เป็นภาพเขียนในเชิงสัญลักษณ์ (Symbolic Painting) ที่เขียนแสดงเรื่องราวสะท้อนความคิด เพื่อเปิดโอกาสให้เราตีความตามนัยะของภาพและตามที่เราเข้าใจ ภาพเขียนชื่อ “ชีวิต” ชิ้นนี้ เป็น ภาพชีวิตที่เกี่ยวกับความรัก เป็นภาพในแนวตั้งสูงประมาณ ๒ เมตร (๑๙๗.๕ x ๑๒๘.๕ ซม.) ด้านซ้ายเป็นภาพความรักระหว่างเพศหญิงและชาย ด้านขวาเป็นภาพความรักระหว่างบุพการีและลูก บริเวณตรงกลางด้านบนเป็นความรักระหว่างเพื่อนมนุษย์ และบริเวณตรงกลางด้านล่าง เป็นคนที่แสดงการครุ่นคิดหมกมุ่นอยู่กับตนเอง เป็นความรักตัวเอง “ถ้าเรารักตนเองไม่เป็น เราก็รักคนอื่นไม่เป็น” และสำหรับชีวิตในสังคมแล้ว ถ้าเรามีความรักทั้ง ๔ ด้านได้ ก็นับเป็นชีวิต เป็นความรัก และเป็นความงดงามของจิตใจด้วยเช่นกัน

ปิคาสโซระบายสีเรียบง่าย ภาพคนที่ไม่แสดงรายละเอียดมากนัก รอยพู่กันกระฉับกระเฉง ภาพเด่นอยู่ที่ภาพแม่อุ้มลูกขวามือ กำลังมองไปที่ภาพชายหนุ่มและหญิงสาวซ้ายมือ สีน้ำเงินเด่นทั้งพื้นภาพ ภาพให้ความรู้สึกสงบเสงี่ยมและครุ่นคิด

สุนทรียภาพคือประสบการณ์ที่ไม่หวังผลตอบแทน

เมื่อเราเดินทางไปสู่ท้องทุ่ง ภูเขา หรือทะเล เราชื่นชมกับภาพที่ปรากฏเบื้องหน้า ภาพท้องทุ่งยามเช้าที่แสงอาทิตย์สาดส่อง ต้นข้าวสีเขียว ลมพัดผ่าน ต้นข้าวทั้งท้องทุ่งลู่เป็นคลื่นไปตามลม คลื่นแล้วคลื่นเล่า ภาพภูเขาที่สูงทะมื่น สง่างาม กลุ่มหมอกเมฆสีขาวเคลื่อนตัวผ่านไป ภาพท้องทะเลสีเขียวเข้ม เขียวน้ำเงิน น้ำเงินเทา ไกลสุดตา ระลอกคลื่นซัดเข้าสู่หาดทราย ฟองคลื่นสีขาวสะอาดซับซ้อนอยู่ชายหาด ลมเย็นผ่านผิวพร้อมกลิ่นไอดินของท้องทุ่ง กลิ่นหอมของป่า ไอเค็มของท้องทะเล ความรู้สึกที่เอิบอิ่มเบื้องหน้าธรรมชาติอันยิ่งใหญ่นั้น เราต่างมีความรู้สึกตอบรับอย่างลึกซึ้ง เราสัมผัสกับความงาม รับรู้ และซาบซึ้งความงาม โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ความรู้สึกชื่นชมและปีติเกิดขึ้นและอยู่ในความทรงจำ เกิดขึ้นและสมบูรณ์ในตัวของมันเอง

ความรู้สึกชื่นชมประทับใจในความงามเช่นนั้น เกิดและรับสัมผัสจากสุนทรียภาพในตัวตนของเรา มีความมากน้อย สูงต่ำ ดื่มด่ำหรือไม่ดื่มด่ำ ต่างกันออกไปตามปัจเจกภาพ ความแตกต่างที่อาจเกิดจากประสบการณ์แวดล้อมส่วนบุคคล ระบบครอบครัว ระบบการศึกษา ระบบสังคม รวมทั้งการให้ “คุณค่า” ของแต่ละบุคคลที่มีต่อสิ่งต่างๆ หรือมีต่อความงามอีกด้วย

อารี สุทธิพันธุ์ กล่าวถึงประสบการณ์และประสบการณ์สุนทรียะว่า
ประสบการณ์ เป็นคำที่ใช้เรียกการรับรู้ที่เกิดขึ้นแก่เรา เมื่อเราสัมผัสหรือปะทะกับโลกภายนอก โดยจะได้รับการสั่งสมไว้ตามประสิทธิภาพของอวัยวะรับสัมผัสของแต่ละคน ซึ่งจะสัมพันธ์กับความตั้งใจของเราหรือความสนใจของเราด้วย หลังจากที่เราได้รับรู้หรือได้มีประสบการณ์แล้ว ก็สามารถจำหรือจำแนกแยกแยะสิ่งที่รับรู้นั้นได้ เก็บสะสมไว้ในสมองเป็นความรู้ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการรู้ตัวหรือที่เรียกว่ามีสติอยู่ทุกขณะนั่นเอง ดังนั้นจึงเชื่อกันว่า เมื่อเรามีประสบการณ์มาก ก็สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายหลังอย่างมีสติได้มาก
ประสบการณ์สุนทรียะ ประสบการณ์สุนทรียะต่างกับประสบการณ์อื่นๆ ตรงที่เราจัดหาให้ตัวเราเอง ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เมื่อเกิดขึ้นแก่เราแล้ว ช่วยให้เราเพลิดเพลินพึงพอใจ เกิดเป็นความอิ่มเอิบใจโดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน เช่น การไปเดินเล่น การไปชมนิทรรศการ ไปดูภาพยนตร์ ไปชมภูมิประเทศสัมผัสธรรมชาติ ไปชมการประกวดกล้วยไม้ การอ่านนวนิยาย การฟังเพลง ฯลฯ ประสบการณ์สุนทรียะเหล่านี้ เรามีความเต็มใจที่จะได้รับรู้ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่สังคมจัดขึ้นหรือเราเลือก กิจกรรมนี้สำหรับตัวเราเอง เป็นประสบการณ์ที่บังคับกันไม่ได้ เกิดจากความต้องการหรือความอยากของตัวเราเอง
(อารี สุทธิพันธุ์. ๒๕๓๘ : ๑๓๕ - ๑๓๖)

เราลองมาอ่านบทนิพนธ์ของ คาลิล ยิบราน ในหนังสือ ปรัชญาชีวิต (The Prophet) ระวี ภาวิไล ถอดเป็นภาษาไทยอย่างงดงาม ตอนหนึ่งที่เขียนถึงความงาม

ความงามก็มิใช่ความจำเป็นที่ต้องการ แต่เป็นความดื่มด่ำ มันมิใช่ปากอันแห้งกระหายหรือมือว่างเปล่าที่ชูขอ แต่เป็นดวงใจอันลุกโรจน์และดวงวิญญาณที่บรรเจิดจ้า ความงามมิใช่ภาพที่เธอจะเห็นได้หรือเพลงที่เธอจะได้ยิน แต่เป็นภาพที่เธอจะเห็นผ่านดวงตาที่ปิดแล้วและเพลงที่เธอได้ยินแม้อุดโสตเสียแล้ว ความงามมิใช่ยางที่ซึมซาบจากรอยขูดเปลือกไม้หรือปีกที่ติดต่ออยู่กับอุ้งเล็บ แต่เป็นสวนพฤกษชาติอันบานสะพรั่งตลอดกาล (ระวี ภาวิไล. ๒๕๑๖ : ๗๖ - ๗๗)

นอกจากความไพเราะงดงามแล้ว ยังมีแง่มุมความคิดหลายประการที่ซ่อนอยู่ในภาษาและความคิดที่งดงามนั้น ความงามที่เป็นพลังภายใน มิใช่ปรากฏการณ์ที่สวยงามเปลือกนอก เป็นพลังที่เจิดจ้ากระตุ้นชีวิตและการทำงานของเรา “ความสวย” ที่เป็นรูปสมบัติ “ความงาม” ที่เป็นคุณสมบัติ


สุนทรียภาพและสมองซีกซ้าย-ขวา
ธรรมชาติได้สร้างมนุษย์ให้มีประสาทสัมผัสที่มีประสิทธิภาพมาก ทั้งตา หู จมูก ลิ้น และกายสัมผัส ตามองเห็นภาพและสีสรรพ์ หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นสัมผัสรส และกายสัมผัสสิ่งต่างๆ รวมทั้งความร้อนหนาวในระดับอุณหภูมิที่แตกต่างกันไป เมื่อสัมผัสสิ่งต่างๆ เราจะเกิดความรู้สึก (Sensation) ความรู้สึกเป็นอาการเบื้องต้น แล้วจึงเกิดการรับรู้ (Perception) ขึ้น รับรู้ว่าภาพอะไร กลิ่นอะไร เสียงอะไร ฯลฯ ความรู้สึกที่ได้สัมผัสก่อให้เกิดการรับรู้และการตีความ การตีความซึ่งเป็นกระบวนการของสมอง และมีประสบการณ์ อารมณ์ ความคิด แรงจูงใจ เข้ามาเกี่ยวข้อง

เมื่อฟังดนตรี เราได้ยินเสียงต่างๆ ผสมผสานกัน เรารับรู้ว่าเป็นเสียงดนตรีในระดับและลีลาของเสียงที่แตกต่างหลากหลาย ผสมผสานกันด้วยท่วงทำนองต่างๆ เรารับรู้พร้อมกับการตีความ สัมพันธ์กับการเรียนรู้ แรงจูงใจ ประสบการณ์ และอารมณ์ เราเคยได้ยินเสียงดนตรี มีความชื่นชอบ รับรู้ว่าเป็นเสียงที่สอดผสานกันจากเครื่องดนตรีต่างๆ ให้ความรู้สึกเพลิดเพลินและจินตนาการไปถึงสิ่งต่างๆ ฟังเพลงของ ริชาร์ด วากเนอร์ ที่อาจจินตนาการถึงพายุที่รุนแรง ฟังเพลงเขมรไทรโยคของ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยา- นริศรานุวัดติวงศ์ ที่จินตนาการถึงป่าเขาลำเนาไพร ฟังเพลง Bridge Over Trouble Water ของ ไซมอนและการ์ฟังเกิล ที่อาจจินตนาการถึงความรุนแรงของธรรมชาติและการเสียสละเพื่อความรัก เป็นต้น



(รัจรี นพเกตุ. ๒๕๔๙ : ๒)
เราอาจแยกสุนทรียศาสตร์ออกเป็น ๒ ด้านคือ สุนทรียศาสตร์เชิงปรัชญา (Philosophical Aesthetics) และสุนทรียศาสตร์เชิงวิทยาศาสตร์ (Scientific Aesthetics) สุนทรียศาสตร์เชิงปรัชญาที่เน้นอารมณ์ความรู้สึก จินตนาการ สุนทรียศาสตร์เชิงวิทยาศาสตร์ที่เน้นเหตุผล ตรรกะ แบบแผน สองขั้วซ้ายและขวาที่แตกต่างกันนี้ เรามีดีกรีของความเชื่อ ดีกรีของการรับรู้และชื่นชมต่างกัน เราอาจรับรู้หรือมีจุดยืนตรงกลาง หรือโน้มเอียงซ้ายหรือขวา อย่างไรก็ตาม “สุนทรียะ” ย่อมมีทั้งสองด้านผสานกัน ดนตรีที่มีโน้ตและจังหวะ บทกวีที่มีฉันทลักษณ์ จิตรกรรมที่มีโครงสร้างพื้นภาพ การเต้นรำที่มีจังหวะการก้าว สถาปัตยกรรมที่มีการคำนวณในทางวิศวกรรม “เชิงวิทยาศาสตร์” ที่มีเหตุผลและตรรกะบนฐานของศิลปกรรมศาสตร์ มานุษยวิทยา และสังคมวิทยา

ความงามที่ผสานกันทั้งในเชิงปรัชญาและเชิงวิทยาศาสตร์ สัมพันธ์กับกระบวนการทำงานของสมอง (Brain System) สมองซีกซ้าย-ขวา (Left and Right Hemisphere) ที่แยกภารกิจแต่ทำงานผสานกัน การรับรู้และการทำงานของสมองซีกซ้ายจะเน้นหนักไปทางเหตุผล ตัวเลข ภาษา การคาดคำนวณ การวิเคราะห์ การวางแผน สมองซีกขวาที่เน้นหนักไปทางภาพ จินตนาการ อารมณ์ความรู้สึก มิติสัมพันธ์ การสังเคราะห์ ภาพรวม สมองทั้ง ๒ ซีก ทำงานผสานกันด้วย คอร์พัส แคลโลซัม (Corpus Callosum) ทำให้คนเรามีเหตุผลและอารมณ์ควบคู่กันไป พร้อมทั้งมีวุฒิภาวะทางปัญญา (IQ) และวุฒิภาวะทางอารมณ์ (EQ) ควบคู่กันไปด้วยเช่นกัน


เอดวาร์ดส์ (Betty Edwards) กล่าวถึงการทำงานของสมองซีกซ้าย-ขวาว่า
สมองซีกซ้ายทำหน้าที่วิเคราะห์ คิดในเชิงนามธรรม นับจำนวน กำหนดเวลา วางแผน กระบวนการเป็นขั้นตอน ถ้อยคำ ตรรกะ ตัวอย่างเช่น “a ใหญ่กว่า b และ b ใหญ่กว่า c นั่นหมายถึงว่า a ย่อมใหญ่กว่า c” ข้อความเชิงตรรกะเช่นนี้ แสดงให้เห็นถึงกระบวนการคิดของสมองซีกซ้าย ซึ่งแสดงถึงการวิเคราะห์ถ้อยคำ คาดคำนวณ ขั้นตอน สัญลักษณ์ เหตุผล รูป ส่วนอีกด้านหนึ่งคือสมองซีกขวา “การเห็น” สรรพสิ่งอาจเป็นไปในลักษณะจินตภาพ เป็นไปตามสภาพจิต เรามองดูสรรพสิ่งซึ่งดำรงอยู่ในบริเวณว่างและมองความสัมพันธ์ของส่วนย่อยและส่วนรวม สมองซีกขวาจะช่วยให้เกิดความเข้าใจในเชิงอุปมา ฝัน สร้างสรรค์ บูรณาการความคิดใหม่ เมื่อมีบางสิ่งบางอย่างที่ยุ่งยากต่อการอรรถาธิบาย เราก็สามารถที่จะแสดงท่าทางอาการประกอบการสื่อสารนั้น (อ้างใน วิรุณ ตั้งเจริญ. ๒๕๓๕ : ๙๗)

การค้นพบการทำงานของสมองดังกล่าว อาจสอดคล้องกับแนวคิดลัทธิเต๋าของจีนเกี่ยวกับหยิน-หยาง พลังของหยิน-หยางทั้งในธรรมชาติและชีวิต หยินคือ หญิง ดวงจันทร์ ความมืด ฤดูหนาว ฤดูใบไม้ร่วง อารมณ์ การยอมจำนน ฯลฯ หยางคือ ชาย ดวงอาทิตย์ แสงสว่าง ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ผลิ เหตุผล ก้าวร้าว ฯลฯ

สรรพสิ่งในโลกล้วนประกอบขึ้นจากทั้งสองสิ่งนี้ คือความเคลื่อนไหวและความสงบนิ่ง เคลื่อนไหวแล้วสงบนิ่ง สงบนิ่งแล้วเคลื่อนไหว มีความประสานกลมกลืนอย่างยิ่งยวด นี่คือหลักแห่งเต๋า ดอกไม้เบ่งบานขึ้นแล้วร่วงโรย ใบไม้เขียวขจีแล้วแปรเปลี่ยนเป็นเหลืองซีดจนหลุดร่วงไปจากขั้ว มีฤดูใบไม้ผลิและติดตามมาด้วยฤดูใบไม้ร่วง เมื่อสรรพสิ่งเคลื่อนไหวจะเต็มไปด้วยพลังและการสร้างสรรค์ ดอกไม้เติบโตขึ้นจากปุ่มปมสีเขียว แล้วเบ่งบานออก เมื่อพลังแห่งการสร้างสรรค์ได้เปี่ยมล้นขึ้นจนถึงขีดสุด ดอกไม้ก็จะค่อยๆ ร่วงโรยไป กลับไปพักผ่อนอย่างสงบอยู่บนพื้นดิน สรรพสิ่งหมุนเวียนเปลี่ยนแปรไม่หยุดยั้ง เปลี่ยนแปรและย้อนกลับหมุนวนเหมือนวัฏจักร (พจนา จันทรสันติ. ๒๕๓๐ : ๓๓๓)


สุนทรียภาพกับการสร้างสรรค์ศิลปกรรม
คนเราดำเนินชีวิตอยู่ในธรรมชาติสิ่งแวดล้อม มีชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคม มีโลกส่วนตัวที่เป็นตัวของตัวเอง มีอิสระเสรีภาพที่จะคิดที่จะทำ เพื่อความสุขและความพึงพอใจของเรา แต่ทั้งนี้ต้องไม่ส่งผลกระทบในทางลบต่อผู้อื่น ต่อสังคม ต่อธรรมชาติสิ่งแวดล้อม

สังคมแต่ละสังคมย่อมมีวัฒนธรรมที่ดีงามของตนเอง วัฒนธรรมที่เป็นวิถีการดำเนินชีวิต เป็นความดีงามต่อตนเองและต่อส่วนรวม วัฒนธรรมที่พัฒนาและสืบทอดกันมา ผ่านระบบครอบครัว ระบบสังคม ระบบการศึกษา “ธรรมะ” ที่เป็นธรรมชาติ ธรรมดา ความดีงาม “วัฒนะ” ที่คงอยู่ได้และพัฒนาให้เหมาะสม สอดคล้องกับสังคมและวิถีชีวิตทุกช่วงเวลา เรามีศาสนาที่ล้วนมีคำสั่งสอนที่สอนให้เรามีคุณค่า มีจิตใจที่ดีงาม “แก่นธรรม” ของศาสนามักผสมผสานอยู่กับพิธีกรรมต่างๆ เราต้องรู้จักกลั่นกรอง รู้จักเลือกสรร เพื่อนำมาสู่การดำรงชีวิต มี “ศรัทธา” ต่อศาสนา โดยมี “ปัญญา” ค้ำจุนศรัทธา มิใช่เป็นเพียงศรัทธาที่มีอวิชชาเข้าครอบงำ เรามีสังคมที่มีกติกา มีกฎหมาย มีระเบียบแบบแผนในการอยู่ร่วมกัน อารยสังคม คือสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข มีแบบแผนที่งดงาม มีระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ ให้คุณค่าต่อ การดำรงชีวิตและให้คุณแก่สังคม มีรสนิยมที่ดี มีศิลปวัฒนธรรมที่เจริญรุ่งเรือง เป็นภาพสะท้อนหรือพลังของความรู้สึกนึกคิด พลังของการอยู่ร่วมกันและพลังของการสร้างสรรค์สังคม

นอกจากคุณค่าของวัฒนธรรม ศาสนา และสังคมดังกล่าวแล้ว เหนือสิ่งอื่นใด ระบบครอบครัวย่อมเป็นหัวใจของวัฒนธรรม ศาสนา และสังคม ทุกสิ่งย่อมเริ่มต้นพัฒนาจากระบบครอบครัว การสืบทอดแบบแผนและวัฒนธรรม สำนึกในการเป็นคนและสำนึกในการอยู่ร่วมกันอย่างอารยชน ล้วนเริ่มต้นงอกงามขึ้นที่บ้าน

เสฐียรโกเศศ (พระยาอนุมานราชธน) กล่าวถึงความเป็นคนไทยว่า
ความเป็นอันเดียวของชาวไทยและอะไรๆ ที่เป็นคุณสมบัติและเป็นบุคลิกลักษณะของชาวไทย จึงไม่ใช่สำคัญอยู่ที่เรื่องต้นเดิมของไทยอย่างเดียว ข้อที่สำคัญมากกว่าคือ อยู่ที่เรื่องวัฒนธรรม ที่ปั้นไทยให้ปรากฏเด่นว่าเป็นไทยโดยสมบูรณ์ และทำให้เห็นว่า แตกต่างไปจากชนชาวอื่นมีอย่างไร เราก็อาจตอบได้ในข้อนี้ว่า วัฒนธรรมไทยเกิดจากขนบธรรมเนียมประเพณีที่สืบๆ ต่อกันมาเป็นปรัมปรา อย่างที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Tradition หรือประเพณีปรัมปรา ซึ่งมีมาหลายกระแสหลายทาง ที่เข้ามาผสมปนปรุงกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว เกิดเป็นวิถีชีวิตแห่งความเป็นอยู่ของชนชาวไทยให้เห็นเด่นโดยเฉพาะ (เสฐียรโกเศศ. ๒๕๓๑ : ๑๑๕)
คนเรามีความรู้สึกนึกคิด มีจิตใจที่ชื่นชมยินดี มีความรู้สึกหวั่นไหวต่อสิ่งกระทบทั้งหลาย มีรสนิยม มีความชื่นชมในความงาม ความไพเราะ ความสันติสุข เรามีประสาทสัมผัส (Sensibility) ที่จะรับรู้ความรู้สึกต่างๆ เรามีรสนิยม (Taste) ในการคิดและการเลือกสรรเพื่อสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิต มีสุนทรียภาพ (Aesthetic) ที่ตอบรับหรือชื่นชมยินดีกับความงามทั้งหลาย เพื่อการดำรงชีวิตที่มีคุณภาพและชีวิตที่ประณีตงดงาม

เมื่อเรามีสุนทรียภาพหรือมีปฏิกิริยาต่อความงามทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติสิ่งแวดล้อม วัตถุ เหตุการณ์ การดำรงชีวิต สภาพแวดล้อมและปรากฏการณ์เหล่านั้นมีสภาพเป็นแรงบันดาลใจ (Inspiration) ที่จะกระตุ้นความรู้สึก กระตุ้นการรับรู้ เราจะแปรการรับรู้ไปสู่ความรู้สึกนึกคิด การชื่นชมยินดี การวิพากษ์ วิจารณ์ พร้อมกันนั้นก็จะพัฒนาความรู้สึกนึกคิดไปสู่การแสดงออก ไปสู่การสร้างสรรค์ เราอาจแสดงออกและสร้างสรรค์ได้ทุกด้านในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกและสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์ สร้างสรรค์ทางเทคโนโลยี สร้างสรรค์ทางสังคม ฯลฯ โดยมีพลังของสุนทรียภาพเป็นแรงสนับสนุน

อีกด้านหนึ่ง พลังสุนทรียภาพในตัวตนของเรา ได้ผลักดันให้เกิดการสร้างสรรค์ศิลปกรรมขึ้น ผู้ที่ชื่นชมการใช้สื่อตัวอักษรบรรยายจินตนาการก็จะสร้างสรรค์วรรณกรรม ผู้ชื่นชมการใช้สื่อเสียงก็จะสร้างสรรค์ดนตรี ผู้ชื่นชมการใช้สื่อร่างกายก็จะสร้างสรรค์ศิลปะการแสดง และผู้ชื่นชมการใช้สื่อวัตถุก็จะสร้างสรรค์ทัศนศิลป์และสถาปัตยกรรม ตามลักษณะเฉพาะของตน (Individuality)



การศึกษาค้นคว้าทางด้านศิลปกรรมศาสตร์ นอกจากการพัฒนาทางด้านสุนทรียศาสตร์เชิงปรัชญา ที่เป็นเรื่องจินตนาการ ความงาม การแสดงออก ความรู้สึกนึกคิด และการพัฒนาทางด้านสุนทรียศาสตร์เชิงวิทยาศาสตร์ ที่เป็นหลักการ เหตุผล การวางแผน การจัดระบบ เพื่อเป็นฐานหรือเป็นแรงผลักดันการสร้างสรรค์แล้ว อีกด้านหนึ่ง จำเป็นจะต้องพัฒนาสุนทรียภาพของผู้ศึกษาอีกด้วย เป็นการศึกษาที่เรียกว่า สุนทรียศึกษา (Aesthetic Education)

อ่านกวีนิพนธ์ของ อังคาร กัลยาณพงศ์ ชื่อ “ปริศนาในวิญญาณ” เมื่ออ่านแล้วถามตัวเราเองว่า “ปริศนาในวิญญาณ” ของเราเป็นอย่างไร










ปริศนาในวิญญาณ
ทะเลเอ๋ยเมื่อไหร่เจ้า จักเต็ม
เห็นแก่ได้คือเค็ม เท่านั้น
ปัญญาแค่แสบเข็ม ทิ่มท่าน พอฤา
หวานแก่นใจกำปั้น หนึ่งนั้นไฉนหาย ฯ

สายกว่าสายบ่ายแล้ว ความรัก
ตกต่ำดุจตะวันจัก จ่อมฟ้า
หล่มหนองนี่หรือปลัก เกียรติยศ
โลกแซ่โลกคลั่งบ้า กี่หล้าบัดสีฯ

สูงมนุษย์แต่ต่ำต้อย หอยปู จริงฤา
สวรรค์รั่วลงในรู นรกไหม้
ชีวิตหนึ่งอักขู- ภิณีค่า
ถมถ่อยอเวจีได้ หน่อยนั้นเต็มไฉนฯ

โศกกี่โลกจึ่งแจ้ง แห้งหาย
เกิดนี่หรือคือตาย คลั่งไคล้
ไปไหนเล่าจุดหมาย นรกเก่า พอฤา
อื้ออิ่มคาวเน่าไหม้ อยู่ไร้สลายสูญฯ

เทอดทูนไว้ย่ำซ้ำ เหยียบสยบ
สยองแต่พิภพที่จบ หม่นม้วย
ปรโลกอย่าหวังสงบ ดังสนั่น ลั่นโลก
สวยนั่นชีวิตด้วย เปล่าสิ้นศิลป์เสนอฯ

ละเมอหลงคงตื่นด้วย หลับใหล
ใจไม่มีแก่นใจ เปล่าไร้
ศาสนากี่โลกไหว บ่หวั่น
ถือมั่นอัตตาไหม้ อยู่ม้วยสูญเสมอฯ

เอาสัจจธรรมซ่อนไว้ สรวงสวรรค์
อยู่เพื่อเท็จลวงกัน เท่านั้น
นี่หรือค่ามนุษย์อัน นำโลก
โศกแก่ผีที่ปั้น ป่วยป้อนอเวจี
(อังคาร กัลยาณพงศ์. ๒๕๓๓ : ๓๔ - ๓๕)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น